2 สมาคมธนาคารขานรับมาตรการ ธปท.-ก.คลังให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากโควิด

ไฮไลท์การเมือง : สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย ขานรับพร้อมให้การสนับสนุนธนาคารประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบผ่าน “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ)” ผ่าน 2 มาตรการ มั่นใจสามารถช่วยเหลือและฟื้นฟูให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างแน่นอน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ(GFA) เปิดเผยว่า สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งมีความพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ในการจัดทำความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบตามร่าง “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ)” วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 มีนาคม 2564 โดยถือเป็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสถาบันการเงินของรัฐจากการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแก่ลูกหนี้ผ่าน พ.ร.ก. Soft Loan ที่ดำเนินการในปี 2563 มาจัดทำเป็นมาตรการฟื้นฟูฯในครั้งนี้ เพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการ รักษาการจ้างงาน และฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินกิจการหลังวิกฤต COVID-19  ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบเป็นอย่างมากให้แก่ลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐในกลุ่มที่รายได้ยังไม่แข็งแรง โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ

1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่ ให้เข้าถึงสินเชื่อ พร้อมรองรับการฟื้นตัว ด้วยการปรับเพิ่มวงเงินให้กู้ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้ยาวขึ้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความเชื่อมั่นด้วยการสนับสนุนการค้ำประกันสินเชื่อรวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และมี ธปท. ส่งเสริมสภาพคล่องต้นทุนต่ำให้แก่สถาบันการเงินดำเนินการต่อไป

2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ให้สามารถเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ และในอนาคตสามารถขอเช่าทรัพย์กลับไปดูแลหรือเปิดดำเนินการต่อได้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์หรือหลักประกัน กลับมาสร้างงาน สร้างรายได้เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยมี ธปท. สนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงิน และภาครัฐสนับสนุนยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีและค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์

ทั้งนี้ CEO ของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งได้ conference call กับ ธปท. เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการฟื้นฟูฯในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งจัดทำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือลูกค้าประชาชนโดยเร็วที่สุดต่อไป เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกหลักที่จะส่งเสริม ช่วยเหลือ และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากในปี 2563 สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 10.89 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 3.65 ล้านล้านบาท ผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ลดเงินงวดผ่อนชำระ ขยายระยะเวลากู้ ให้สินเชื่อเพิ่มเติม และค้ำประกันสินเชื่อ

ด้าน สมาคมธนาคารไทยพร้อมธนาคารสมาชิก ได้ขานรับมติ ครม. เช่นกัน โดยเดินหน้าสนับสนุน 2 มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและมีสภาพคล่องสำหรับทำธุรกิจต่อไปได้

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564  มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 2 มาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) นั้น สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนการดำเนินมาตรการดังกล่าว  เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกนานในการฟื้นตัว

การจัดทำมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูฯในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือและรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการ ภาครัฐในการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความกังวลของสถาบันการเงิน และสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด นำมาสู่การจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติม 2 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ( สินเชื่อฟื้นฟู)  ครอบคลุมทั้งการเสริมสภาพคล่อง  และการลงทุน เพื่อกลับมาทำธุรกิจตามปกติ (Revive & Restart) วงเงินสนับสนุนดูแลสินทรัพย์ สำหรับธุรกิจโรงแรมและธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง และประสงค์จะหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว โดยภาครัฐได้ปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น

มาตรการที่ 2 มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ) ซึ่งเป็นโครงการภาคสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรงเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นกิจการที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยให้ผู้ประกอบการสามารถหยุดการดำเนินกิจการได้ชั่วคราว ด้วยการโอนทรัพย์เป็นหลักประกันไว้กับธนาคาร เพื่อรับสิทธิในการขยายเวลาชำระหนี้ระยะยาว รอเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยไม่สูญเสียกิจการไป ซึ่งจะมีสินเชื่อพิเศษสนับสนุนจากภาครัฐสำหรับดูแลทรัพย์ที่อยู่ในโครงการฯ  มาตรการนี้อยู่ภายใต้หลักการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตรงตามสถานะธุรกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน

“สมาคมฯ และธนาคารสมาชิก มีความตั้งใจและความพร้อมในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจไทยให้สามารถอยู่รอดในช่วงที่เศรษฐกิจรอการฟื้นตัว และกลับมาดำเนินธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

Advertising

Related posts

“จุลพันธ์” เผยคลังเตรียมเสนอ ครม.อังคารหน้า โอนเงินผู้สูงอายุ 1 หมื่นบาท คาดโอนเงินได้ก่อนตรุษจีนปี 68

นายกฯย้ำจุดแข็งไทย ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ปูทางสู่ความรุ่งเรือง-มั่งคั่ง

บิ๊กโตโยต้าญี่ปุ่นเยือนไทย ให้ความมั่นใจนายกฯ ขอยืนหยัดร่วมกับไทยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์รูปแบบใหม่