ไฮไลท์การเมือง : “ประยุทธ์” ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการวันแรกสำหรับการฉีดวัคซีนพระราชทานฯ แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และชุมชนโดยรอบ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (25 มิ.ย. 2564) เมื่อเวลา 09.30 น. ณ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการวันแรกสำหรับการฉีดวัคซีนพระราชทานในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลเป็นกลุ่มแรก จำนวน 6,400 ราย (วัคซีนจำนวน 6,400 โดส) เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม และได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แก่ปวงชนชาวไทย โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมชมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนที่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ในวันนี้มีผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามจัดหาวัคซีนให้ประชาชนทุกคนตามความเหมาะสม พร้อมย้ำบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างดูแลประชาชนขอให้ระมัดระวังดูแลสุขภาพตนเองไปพร้อมด้วย โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณุข สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด
นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า วันนี้เป็นที่น่ายินดีที่ได้มาตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการสำหรับการฉีดวัคซีนพระราชทานในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 โดยวัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรก จำนวน 1 ล้านโดส ที่ได้จัดส่งถึงประเทศไทยแล้วนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ รวมทั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวนแห่งละ 6,400 โดส รวมทั้งหมด 25,600 โดส ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐบาลที่ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยวันนี้การฉีดวัคซีนจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และจะเร่งดำเนินการกระจายวัคซีนไปในทุกจังหวัด โดยบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมถึงการจัดหาวัคซีนก็ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนด และจะมีการเร่งเจรจาจัดหาและจัดซื้อเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่มและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนในประเทศ
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นปัจจุบันนั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมที่จะดูแลประชาชน รวมถึงมีการปรับเตียงรองรับผู้ป่วยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งจัดหาสถานที่ ห้องความดันลบ และจัดหาเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและทันท่วงที ซึ่งคาดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เร่งรัดดำเนินการสำหรับแรงงานที่ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยให้ดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งได้กำชับและสั่งการให้กระทรวงแรงงานไปตรวจโรงงานที่รับแรงงานที่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะตราบใดที่มี Demand ก็ยังมี Supply และมีคนแสวงหาประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรียอมไม่ได้ หากพบว่าใครเกี่ยวข้องก็จะต้องถูกลงโทษ
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ขณะนี้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ควบคู่กับการดำเนินการในหลายเรื่อง ทั้งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหายาเสพติด และอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโควิด-19 รัฐบาล ศบค. กระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญยึดหลักร่วมกัน คือ 1. การดูแลเรื่องการติดเชื้อ การแพร่ระบาด 2. การตรวจสอบคัดกรองเชิงรุก 3. การปิดกั้นพื้นที่ที่แพร่ระบาดด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน 4. การจัดหาวัคซีน ทั้งที่ได้มาแล้วสู่การฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด และการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 5. การรักษาสมดุลกับการควบคุม เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหลายประเทศให้ความสนใจ ต้องการมาเที่ยวประเทศไทย แต่ต้องมีมาตรการที่รัดกุม เช่น ที่จังหวัดภูเก็ต ที่กำลังจะเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ก็ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปดูแลแล้ว ซึ่งหากดำเนินการในพื้นที่ภูเก็ตได้ ก็จะมีการพิจารณาขยาย Phuket Sandbox ไปดำเนินการในพื้นที่อื่นด้วย
Advertising