ไฮไลท์การเมือง : โฆษก ศบศ. เผยรัฐบาลอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์ พักหนี้แล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดใช้จ่ายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐทะลุ 6.6 หมื่นล้าน คาดรับเงินเยียวยานักเรียนได้ภายใน 31 ส.ค.
23 ส.ค. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้ร่วมดำเนินการ 2 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท ความคืบหน้ามีสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้ว 92,316 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 30,194 ราย โดยมีวงเงินอนุมัติเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1 ล้านบาทต่อราย และ 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 10,510.61 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 65 ราย ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการเป็นมาตรการที่รัฐบาลตอบสนองต่อภาคเอกชน ให้สามารถเข้าถึงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น เสริมสภาพคล่องและการลงทุน สนับสนุนวงเงินในการดูแลสินทรัพย์ให้ภาคธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรงยังสามารถกลับมาทำธุรกิจตามปกติ หลังจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว ตามมติคณะรัฐมนตรี 23 มีนาคม 2564 ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
นายธนกร กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษาของรัฐบาลนั้น ในส่วนของเงินเยียวยานักเรียน รัฐบาลจะจ่ายให้นักเรียนทุกคน ทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน ระดับอนุบาล-ม.ปลาย และ ปวช./ปวส. ทั่วประเทศ คนละ 2,000 บาท โดยหลังจากกระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณแล้ว จะโอนเงินให้ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (โรงเรียนเอกชน/กศน.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เขตพื้นที่การศึกษาของรัฐ) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (วิทยาลัย อาชีวศึกษา/เทคนิค) ภายใน 5-7 วัน ซึ่งผู้ปกครองสามารถตรวจสอบสิทธิกับสถานศึกษาถึงวิธีการรับเงิน ทั้งผ่านเลขบัญชีธนาคาร พร้อมเพย์ หรือรับเงินสด โดยคาดว่าจะได้รับเงินภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ขณะนี้มีอยู่จำนวนกว่า 11 ล้านคน แบ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษา รวม 9.8 ล้านคน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. อีก 1.2 ล้านคน งบประมาณดำเนินการรวม 22,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นผู้ปกครองและนักเรียน นักศึกษา สามารถตรวจสอบสิทธิ์กับสถานศึกษา หรือโรงเรียนของรัฐตรวจสอบสิทธิและข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ> https://student.edudev.in.th) และในส่วนของโรงเรียนเอกชนตรวจสอบสิทธิและข้อมูลได้ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) https://opec.go.th
โฆษก ศบศ. กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 38.25 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 66,150.3 ล้านบาท แบ่งเป็น 1)โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 23.68 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 59,183.6 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 30,049.5 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 29,134.1 ล้านบาท 2)โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 68,157 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 1,352 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 38 ล้านบาท 3)โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.49 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 5,234.5 ล้านบาท และ 4)โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.01 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 342.2 ล้านบาท ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเร่งเชื่อมระบบแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่กับโครงการ “คนละครึ่ง” คาดว่าจะพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อให้ทันกับการรองรับการโอนเงิน “คนละครึ่ง” รอบ 2 อีก 1,500 บาท อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเร่งเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มควบคู่ไปกับการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19
Advertising