Home สถาบันพระมหากษัตริย์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง -Immuno-oncology”

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง -Immuno-oncology”

by Editor staff

ไฮไลท์การเมือง : เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 12 นาฬิกา 56 นาที สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่ออิเล็กทรอนิก เรื่อง “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง -Immuno-oncology” พระราชทานแก่ แพทย์ประจำบ้าน ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564

ในหัวข้อที่ 2 “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง: ตัวยับยั้งจุดตรวจของภูมิคุ้มกัน (Cancer Immunotherapy: Immune Checkpoint Inhibitors)” ต่อจากที่ได้ทรงบรรยายในครั้งที่แล้ว

ในการนี้ ทรงบรรยายถึงการรักษาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเซลมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น

นอกจากนี้ ทรงบรรยายถึงกระบวนการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunoediting) ซึ่งเริ่มจากการที่เซลล์มะเร็งถูกตรวจพบและทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกัน แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เซลล์มะเร็งที่ยังไม่ถูกทำลาย ทำให้สามารถคงอยู่ต่อไปและพยายามปรับตัวอยู่ร่วมกับเซลล์ปกติ และต่อมามีการปรับตัวเพื่อหลบหนีจากระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญและแพร่กระจายออกไป เนื่องจากไม่มีการควบคุม หรือการกำจัดโดยระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถหลบหนีจากการกำจัดของระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่

การกดระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์มะเร็งเอง โดยเกิดที่โมเลกุลของจุดตรวจภูมิคุ้มกัน (immune checkpoint molecules) บนผิวของเซลล์มะเร็ง ไปทำปฏิกิริยากับตัวรับบนเม็ดเลือดขาวชนิด ที-เซลล์ (T cells) ที่มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของระบบเม็ดเลือดขาวนี้ ทำให้สามารถยับยั้งเซลล์เม็ดเลือกขาวชนิดที-เซลล์ ที่จุดตรวจภูมิคุ้มกันและหลบหลีก (evade) จากการทำลายของระบบภูมิคุ้มกันได้

ดังนั้น การยับยั้งการกดระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์มะเร็ง โดยยาซึ่งเป็นโมโนโคลนอล แอนตี้บอดี้ (monoclonal antibody) ยับยั้งการทำปฏิกิริยาที่จุดตรวจภูมิคุ้มกันนี้ จะทำให้เพิ่มการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น ถือเป็นแนวทางใหม่ของการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง โดยทรงบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนายา ตลอดจนกลไก และวิถีการทำงานของยากลุ่มนี้ พร้อมทั้งทรงยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ในช่วงท้าย ทรงบรรยายถึงแนวทางการรักษาที่เป็นความหวังในปัจจุบันและอนาคต โดยใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน และทรงยกตัวอย่างการใช้ยาในกลุ่มยับยั้งจุดตรวจภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดร่วมกัน ให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น แต่อาจจะเพิ่มอาการข้างเคียงขึ้นได้ ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลในระยะยาวของการรักษานี้ หรือใช้ยากลุ่มยับยั้งจุดตรวจภูมิคุ้มกัน ร่วมกับการรักษาแบบเคมีบำบัดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งอาจจะเพิ่มการตอบสนองในการต้านมะเร็งมากขึ้น แต่มีข้อควรระวังในการวางแผนการรักษา ซึ่งขึ้นกับระยะของการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเป้าหมาย ตลอดจนขนาดยาที่ใช้ และระยะเวลาของการใช้ยา ด้วยความรู้เรื่อง ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ที่แพทย์ประจำบ้าน ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับพระราชทานจากทูลกระหม่อมอาจารย์ ทั้ง 2 ครั้งนี้ ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานของระบบภูมิคุ้มกัน และการนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ตลอดจนการศึกษาวิจัยและพัฒนายาที่มีคุณสมบัติเฉพาะอย่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การรักษาซึ่งเป็นความหวังที่จะทำให้สามารถระงับโรคมะเร็งที่นับวันจะพบได้มากขึ้นได้ และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม

Advertising

Related Articles

Leave a Comment

Are you sure want to unlock this post?
Unlock left : 0
Are you sure want to cancel subscription?
-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00