ไฮไลท์การเมือง : ประยุทธ์ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้วางระบบการทำงาน ช่วยเหลือประชาชนรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการมีผลบังคับใช้ของความตกลง RCEP
7 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนในประเทศไทยจะได้รับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ความตกลง RCEP เป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกครอบคลุมกว่า 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียน รวมกับอีก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรมากถึง 2.3 พันล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของโลก จึงมีตลาดในการนำเข้าเเละส่งออกสินค้าและบริการที่กว้างขวาง RCEP ยังเป็นความตกลงทางการค้าที่เปิดกว้างที่สุด และครอบคลุมหลายด้านที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในแต่ละประเทศสมาชิก โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้านำเข้าสูงที่สุดถึงร้อยละ 99 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก RCEP ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง อีกทั้งมีมาตรการที่อำนวยความสะดวกในการลงทุนขยายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติในไทย เช่น ในโครงการ EEC
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประชาชน เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการไทย จะได้รับจากความตกลง RCEP ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน อาทิ
– ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้า (ภาษีเหลือ 0%) สำหรับสินค้าส่งออกไทย จำนวนกว่า 29,891 รายการ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าส่งออกของไทย
– ผู้ประกอบการได้รับการอำนวยความสะดวกหรือลดความยุ่งยากทางการค้า โดยเฉพาะด้านพิธีศุลกากร และเพิ่มช่องทางออนไลน์สำหรับการยื่นเอกสารขอนำเข้าสินค้าเป็นการล่วงหน้า
– ปรับ ประสานมาตรฐานและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศผู้นำเข้า ให้มีความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน
– ลดหรือ ยกเลิกข้อกำหนดด้านการลงทุน ที่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติภายในประเทศสมาชิก อาทิ สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ เงื่อนไขสัญชาติของผู้ให้บริการ และกฎระเบียบในการจัดตั้งกิจการหรือการลงทุน
– เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการสำหรับผู้สูงอายุ และโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP ยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศหลายล้านรายที่กระจายอยู่ในภาคธุรกิจต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้และการจ้างงานให้กับประเทศมากขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสให้ไทยสามารถเปิดรับการลงทุน และการพัฒนาจากประเทศสมาชิก ในสาขาที่ไทยมีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็น การวิจัยและพัฒนา การศึกษา สิ่งแวดล้อม การซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยานหรือเรือขนาดใหญ่หรืออุปกรณ์ขนส่งทางราง และการผลิตหุ่นยนต์สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดรับกับโอกาส สิทธิประโยชน์ที่ไทยได้รับภายใต้ความตกลง RCEP พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนา ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชน เอกชน ผู้ประกอบการ ให้ได้ใช้และรับประโยชน์จากความตกลงฯดังกล่าวอย่างเต็มที่
Advertising