Home ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์ชี้ ป้อมปราการเศรษฐกิจของรัสเซียจะค่อยๆทลายลงด้วยชุดมาตรการลงโทษ

นักวิเคราะห์ชี้ ป้อมปราการเศรษฐกิจของรัสเซียจะค่อยๆทลายลงด้วยชุดมาตรการลงโทษ

by Editor staff

ไฮไลท์การเมือง : นักวิเคราะห์ชี้ ป้อมปราการเศรษฐกิจของรัสเซียจะค่อยๆทลายลงด้วยชุดมาตรการลงโทษ

26 ก.พ. 65 รัสเซียได้ใช้เวลาในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาในการสร้างป้อมปราการทางการเงินที่แน่นหนาของประเทศ แต่นักวิเคราะห์มองว่าในระยะยาว เศรษฐกิจของรัสเซียจะไม่สามารถทนต่อการโจมตีด้วยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก

ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้พร้อมใจกันตอบโต้รัสเซียด้วยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เปิดฉากโจมตียูเครน ซึ่งเป็นการลงโทษเพิ่มเติมหลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้นำรัสเซียได้ประกาศยอมรับเอกราชของสองเขตการปกครองในยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซีย

มาตรการลงโทษของชาติตะวันตก ประกอบด้วยการระงับการดำเนินการด้านทรัพย์สินของธนาคารและนักธุรกิจรัสเซีย การยุติไม่ให้รัสเซียระดมทุนในต่างประเทศ การระงับโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 ในเยอรมนี และการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่าง เซมิคอนดัคเตอร์ เป็นต้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัสเซียได้เพิกเฉยต่อชุดมาตรการลงโทษเหล่านี้ โดยมองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 643,000 ล้านดอลลาร์ และมีรายได้อย่างงามจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รัสเซียได้รับการขนานนามว่ามี “ป้อมปราการทางเศรษฐกิจ” นอกจากนี้รัสเซียยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) และมีอัตราหนี้สินร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งเป็นอัตราที่จัดว่าต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ครึ่งหนึ่งของหนี้สินของประเทศเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ​ ซึ่งลดลงจากร้อยละ 80 เมื่อยี่สิบปีก่อน

ตัวเลขเหล่านี้เกิดจากการเก็บออมของรัฐบาลกรุงมอสโก หลังจากที่ถูกลงโทษด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจหลังเกิดการผนวกไครเมียโดยรัสเซียในปี ค.ศ.2014

คริสโตเฟอร์ แกรนวิลล์ (Christopher Granville) ผู้อำนวยการจัดการของบริษัทที่ปรึกษา ทีเอส ลอมบาร์ด (TS Lombard) และเป็นผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในรัสเซียมาเป็นเวลานาน ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า การมองว่ารัสเซียจะไม่ได้รับผลกระทบเลยนั้นเป็นการคิดที่ผิด ผลกระทบจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเหล่านี้อาจจะไม่มีผลโดยทันที แต่จะเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของรัสเซียในระยะยาว

แกรนวิลล์กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงช่วยให้รัสเซียมีรายได้เพิ่มขึ้นมา 17,200 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากการเก็บภาษีกำไรของบริษัทพลังงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม นโยบายการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นมีราคาค่างวดของตัวมันเอง นั่นคือการถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆจากเศรษฐกิจ ตลาดและการลงทุนของโลก

เขามองว่า รัสเซียจะได้รับการปฏิบัติเหมือนประเทศที่เป็นศัตรู ที่ถูกตัดออกจากการหมุนเวียนของเศรษฐกิจและการลงทุนโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต การสร้างรายได้ การเพิ่มผลผลิต และผลกำไรของบริษัทต่างๆ

สัญญาณของความเปราะบางของเศรษฐกิจรัสเซียนั้นมีออกมาให้เห็นบ้างแล้ว รายได้ครัวเรือนของรัสเซียนั้นยังอยูต่ำกว่าระดับในปี ค.ศ.2014 และในปี ค.ศ.2019 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ผลผลิตทางเศรษฐกิจของรัสเซียมีมูลค่า 1.66 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.2013 ตามการรายงานของธนาคารโลก

เซอร์เก เกอเรียฟ (Sergei Guriev) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และอดีตประธานนักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนา (European Bank for Reconstruction and Development) ชี้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เป็นตัวเงินต่อหัวของรัสเซียนั้นเคยคิดเป็นสองเท่าของประเทศจีนในปี ค.ศ.2013 แต่ปัจจุบันกลับน้อยกว่าจีน ในปีนั้นรัสเซียเคยเป็นประเทศรายได้สูง แต่ในปัจจุบันรัสเซียกลับมาอยู่ในหมวดประเทศรายได้ปานกลางอีกครั้ง

อิทธิพลที่แผ่วลง

นักลงทุนต่างชาติในรัสเซียนั้น นับวันยิ่งมีน้อยลงด้วยเช่นกัน

การสำรวจของ เจพีมอร์แกน (JPMorgan) แสดงให้เห็นว่าการถือพันธบัตรสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียโดยนักลงทุนต่างประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี อีกทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ยังไม่เคยกลับไปอยู่ในระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤตไครเมีย

เจฟฟรีย์ ชอทท์ (Jeffrey Schott) ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงโทษทางเศรษฐกิจแห่งสถาบัน Peterson Institute for International Economics กล่าวว่ามาตรการการลงโทษทางเศรษฐกิจนั้นจะบังคับให้รัสเซียต้องพึ่งพาตนเองในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น จะลดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ และในการลงทุนทางทหาร

หากมีการลงโทษที่รุนแรงกว่านี้อาจจะทำให้รัสเซียถูกตัดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศหรือ SWIFT ที่ธนาคารทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย และการห้ามไม่ให้มีการลงทุนใดๆทั้งสิ้นในรัสเซีย

การถูกขับออกจากระบบ SWIFT จะสร้างความยุ่งยากให้การชำระเงินเพื่อการส่งออกและนำเข้าของรัสเซีย อีกทั้งจะยังทำให้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยของตราสารหนี้ และทำให้เกิดการผิดนัดชำระเงินทางเทคนิคได้ เจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจะเฉือนการเติบโตทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของรัสเซียออกไปร้อยละ 3.5

การเข้าถึงเงินทุนต่างชาติที่เป็นไปอย่างจำกัดจะยังทำให้บริษัทน้ำมันต้องพึ่งพาการชำระเงินล่วงหน้า และทำให้มีต้นทุนในการประกอบกิจการสูงขึ้น

คุณภาพชีวิตที่ลดต่ำลงอย่างช้าๆ ยังเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ และส่งผลร้ายต่อรัฐบาลกรุงมอสโคที่ทุกวันนี้ต้องเผชิญกับการประท้วงเป็นครั้งคราวอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์แห่งธนาคารเพื่อการลงทุน เบเรนเบิร์ก (Berenberg) กล่าวว่านโยบายการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่สูตรที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้า และการจัดการกับรัสเซียที่พรั่งพร้อมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ตั้งอยู่บนเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้นั้น จะเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับยุโรปและสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้นี้

Advertising

Related Articles

Leave a Comment

Are you sure want to unlock this post?
Unlock left : 0
Are you sure want to cancel subscription?
-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00