Home ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “ไบเดน” เยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางแรงเสียดทานการแข่งขันจากจีน-รัสเซีย

“ไบเดน” เยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางแรงเสียดทานการแข่งขันจากจีน-รัสเซีย

by Editor staff

⇒ “ไบเดน” เยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางแรงเสียดทานการแข่งขันจากจีน-รัสเซีย

ไฮไลท์การเมือง : 12 พฤศจิกายน 2565 หลังจากที่ทำผลงานในการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายนได้ดีกว่าที่คิด ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้ออกเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับผู้นำกลุ่มประเทศอินโดแปซิฟิก ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ สงครามในยูเครนที่ยังดำเนินต่อไป และการยั่วยุที่เพิ่มมากขึ้นจากเกาหลีเหนือ โดยผู้นำสหรัฐฯ ต้องจัดการกับประเด็นสำคัญต่อไปนี้ ในระหว่างการเดินทางเยือนกัมพูชา และอินโดนีเซีย

การประชุมสุดยอดผู้นำ การประชุมทวิภาคี

ปธน. โจ ไบเดน มีกำหนดการที่จะเดินทางถึงกรุงพนมเปญในเช้าวันเสาร์ หลังจากที่เสร็จจากการเข้าร่วมประชุม COP27 หรือการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลกขององค์การสหประชาชาติ ที่เมือง ชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์

ที่กัมพูชา ผู้นำสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน กับผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้นำอาเซียนและผู้นำจากประเทศพันธมิตรอย่าง ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐฯ

ไบเดน ยังจะพบปะกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ซึ่งนั่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนปีนี้ และยังเป็นเผด็จการที่อยู่ในอำนาจนานที่สุดของภูมิภาค ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985

หลังจากนั้น ผู้นำสหรัฐฯ จะเดินทางไปยังบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในวันอาทิตย์เพื่อเข้าร่วมการประชุมจี-20 (G-20) กับผู้นำจาก 20 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่ในวันจันทร์ ปธน.ไบเดน จะพบปะกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำทั้งสองคนได้พบปะกันแบบตัวต่อตัว หลังจากที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่งในปี 2021

ผู้นำสหรัฐฯ ยังจะพบปะกับประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย และเจ้าภาพการจัดประชุม จี-20 ครั้งนี้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี จอร์เจีย เมโลนี ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิตาลีเมื่อไม่นานมานี้

ไบเดน ยังจะมีประชุมทวิภาคีและไตรภาคีกับผู้นำญี่ปุ่น และประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เพื่อหารือเรื่องภัยต่อความมั่นคงจากเกาหลีเหนือ

ปัญหาด้านความมั่นคง

สงครามในยูเครน การเพิ่มบทบาททางทหารในพื้นที่ทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน และภัยจากอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ เป็นประเด็นด้านความมั่นคงที่ ปธน.ไบเดนจะให้ความสนใจในการประชุมสุดยอดผู้นำในครั้งนี้ เช่นเดียวกับการเสาะแสวงหาความร่วมมือเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับนานาประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การป้องกันภาวะโรคระบาดร้ายแรงในอนาคต และความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานโลก

แต่ภารกิจทางการทูตของไบเดนในครั้งนี้ อาจจะไม่ราบรื่นนัก เพราะสหรัฐฯ ต้องแข่งขันกับอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องพยายามขยายเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันโดดเดี่ยวรัสเซียอีกด้วย หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องพึ่งพากรุงปักกิ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการการคุ้มครองหรือการรับรองความปลอดภัยจากกรุงวอชิงตัน เพื่อยับยั้งท่าทีทางการทหารที่ขึงขังมากขึ้นของจีน ส่วนบางประเทศก็หวังว่ารัสเซียจะมีบทบาทในการคานอำนาจของสหรัฐฯ และจีน ในความเป็นคู่แข่งของประเทศมหาอำนาจทั้งสองนี้

นอกจากนั้น การเยือนเอเชียของไบเดน ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกาหลีเหนือได้เคลื่อนไหวทางการทหารมากขึ้น โดยมีการทดสอบยิงขีปนาวุธเป็นชุดๆ และมีการบินของเครื่องบินทหารใกล้กับชายแดนเกาหลีใต้ ซึ่ง จอห์น เคอร์บี (John Kirby) ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวกับวีโอเอว่า สหรัฐฯ เตรียมพร้อมหากจะมีการยั่วยุที่เพิ่มมากขึ้นจาก คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในช่วงเวลาที่ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางเยือนภูมิภาค ซึ่งการยั่วยุที่ว่านี้อาจจะหมายถึงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2017

การรักษาดุลอำนาจ

ในกรุงพนมเปญ กลุ่มประเทศอาเซียนจะจัดการประชุมกับพันธมิตรอย่าง จีน รัสเซีย และสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง จะเป็นผู้เข้าร่วมประชุมในกรุงพนมเปญ ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ จะเป็นตัวแทนจากกรุงมอสโก

การประชุมเหล่านี้จะเป็นพื้นที่ให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมกันจัดการกับความขัดแย้งและจุดล่อแหลมในภูมิภาค เช่น ความขัดแย้งทางด้านเขตแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างสมาชิกอาเซียนบางประเทศและกรุงปักกิ่ง รัฐประหารในเมียนมา และการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน เป็นต้น

ประเทศอาเซียนนั้นมีความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคงที่มากน้อยแตกต่างกันไปกับกรุงวอชิงตัน กรุงปักกิ่ง และกรุงมอสโก สเตซี โกดาร์ด (Stacie Goddard) อาจารย์ด้านอำนาจและการเมืองที่ เวลส์ลีย์ คอลเลจ (Wellesley College) กล่าวกับวีโอเอว่า “ประเทศเหล่านี้จะลังเลที่จะทำอะไรที่จะไปกระทบกับดุลอำนาจที่มีอยู่ตอนนี้”

การเดินทางเยือนกรุงพนมเปญของไบเดน จะเป็นการเสริมต่อจากการประชุมสุดยอดครั้งพิเศษที่ไบเดนเป็นเจ้าภาพในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งไบเดนได้ประกาศให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างข้อผูกพันกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไบเดน มีแผนที่จะลงนามในความร่วมมือ ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งคล้ายกับสัญญาที่กลุ่มประเทศอาเซียนลงนามไปกับจีนเมื่อปี 2021

การค้าและการลงทุน

มาร์ค มีลลี (Marc Mealy) รองประธานอาวุโสด้านนโยบายแห่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน บอกกับวีโอเอว่า ทางสภารู้สึกมีความหวังว่าการประชุมสูงสุดเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งในการเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด การค้าทางดิจิทัล และการสร้างห่วงโซ่อุปสงค์ที่แข็งแกร่งทนทานมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ ไทย และมาเลย์เซีย ติดอันดับ 20 คู่ค้าสำคัญของกรุงวอชิงตัน

นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง เตรียมที่จะผลักดัน “เวอร์ชั่น 3” ของความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA) ในขณะที่ไบเดนเสนออีกทางเลือกหนึ่ง นั่นคือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (อังกฤษ: Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) หรือ ไอพีอีเอฟ (IPEF) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มทางเศรษฐกิจที่กรุงวอชิงตันเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ IPEF ไม่ได้เป็นโครงการที่เปิดตลาดหรือมีข้อตกลงด้านการลดภาษี ซึ่งเป็นแรงจูงใจทางการค้าที่หลายประเทศต้องการ (ข้อมูล: วีโอเอ)

Advertisement

 

Related Articles

Leave a Comment

Are you sure want to unlock this post?
Unlock left : 0
Are you sure want to cancel subscription?
-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00