⇒ ไทย-สหรัฐหารือกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ไฮไลท์การเมือง : 28 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง การเติบโตเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม ขณะสหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือกับไทย
คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) นำโดยนายโรเบิร์ต โกเดค (H.E. Mr.Robert Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวน 43 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ อาทิ พลังงาน อาหารและการเกษตร สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงิน เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า USABC และภาคเอกชนสหรัฐฯ ถือเป็นมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีบทบาทสนับสนุนการเติบโตของไทยมาโดยตลอด รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการประชุมเอเปค ไทยได้ผลักดันผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ทั้งการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทหลังโควิด-19 และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยการนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG)
“คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตระหว่างร้อยละ 2.7-3.2 ไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ มุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม และให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนของภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรีได้เสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุค Next Normal 3 ประการ ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความสมดุล และมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน โดยรัฐบาลได้เร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว และต้องการยกระดับไทยไปสู่การผลิต EV สำหรับภูมิภาค พัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“2.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาลได้เร่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจตามข้อเสนอ Ten for Thailand เพื่อพัฒนาไทยไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับธุรกิจ การค้า และการลงทุน และ 3.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ไทยมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี หวังว่าในโอกาสฉลองครบรอบ 190 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปี 2566 ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจะเพิ่มพูนและแน่นแฟ้น มีพลวัตในความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกันพร้อมหน้า และเป็นคณะที่ใหญ่สุดที่เดินทางมาประเทศไทยรวม 43 บริษัทแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับไทย และการลงทุนในภูมิภาคนี้ ถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบครบรอบ 190 ปีของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย และชื่นชมความสำเร็จที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานการประชุมเอเปค 2022 ได้อย่างยอดเยี่ยม
ส่วนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยั่งยืนยาวนาน ร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์ในหลายระดับและภาคเอกชนถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า และยืนยันจะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยต่อไป
ด้านผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้ง 43 บริษัทจาก 6 อุตสาหกรรมหลัก ได้กล่าวแนะนำตัวและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนแนวคิด BCG ของไทยผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์ อย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวแทนบริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์การกลางลงทุนในด้านต่างๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ (Auto Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่พร้อมต่อการทำงาน ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายการลงทุนของแต่ละธุรกิจในอนาคตต่อไป
Advertisement