⇒ย้ำ ปลดล็อกกัญชามีมาตรการดูแลผลกระทบ
ไฮไลท์การเมือง : 30 เมษายน 2566 “ไตรศุลี” ย้ำ ปลดล็อกกัญชามีมาตรการดูแลผลกระทบสุขภาพและเด็กตามหลักสิทธิมนุษยชนทุกด้าน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันพบมีกระบวนการโจมตีนโยบายด้านกัญชาเพื่อการแพทย์และเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการให้ข่าวว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุม หรือกฎหมายคลุมเครือบังคับใช้ไม่ได้นั้น ขอเรียนว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่กำกับดูแลการใช้กัญชาที่รอบด้าน
ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เป็นเครื่องมือในการควบคุมการใช้ประโยชน์กัญชาแต่ละด้าน อาทิ การควบคุมสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร โดยห้ามใส่ช่อดอกกัญชาในอาหาร ,กำหนดหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายอาหารที่ผสมกัญชาในร้านอาหาร, กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม, การขายช่อดอกกัญชาต้องได้รับอนุญาตทุกกรณี , ห้ามจำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นิสิต นักเรียน นักศึกษา สตรีมีครรภ์ หรือ สตรีที่ให้นมบุตร, ห้ามขายในวัดและศาสนสถาน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสนุก, ห้ามสูบทำให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะทำให้เกิดความรำคาญ, ห้ามขายออนไลน์ ห้ามเร่ขาย ห้ามขายผ่านเครื่องขาย ฯลฯ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการติดตามดูแลภายใต้ภารกิจของหน่วยงาน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 66 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขถึงผลการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับมาตรการการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิเด็กในสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทยที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการอยู่ ซึ่งทุกหน่วยงานสามารถตอบข้อห่วงใยของ กสม. ได้ทุกประเด็น
ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับการปกป้องคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรีตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร การควบคุมการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะช่อดอกอย่างเคร่งครัด รวมถึงการควบคุมการใช้กัญชา กัญชงในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การควบคุมลักษณะบรรจุภัณฑ์ และฉลากต้องไม่มีลักษณะจูงใจเด็กและเยาวชน เป็นต้น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ได้รับทราบร่วมกันว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรผ่านการจัดอบรม ผลิตสื่อความรู้ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย ยังมีกลไกการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชา เพื่อเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากอาการไม่พึงประสงค์ในการใช้กัญชา โดยมีทั้งการรายงานผ่านระบบ Online และ offline นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทะเบียนปลูกกัญชาผ่านทาง application โดยให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อปลูกกัญชาได้ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็มีกลไกในการดูแลและติดตามการใช้สารเสพติดในสถานศึกษาด้วย
ในส่วนของมาตรการส่งเสริมและควบคุมคุณภาพการปลูกกัญชา กัญชง เพื่อความปลอดภัยนั้น ได้มีการจัดทำคู่มือมาตรฐานการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชกัญชา และจัดให้มีการอบรมสำหรับเกษตรกรและประชาชนให้ได้รับความรู้ด้านการปลูกและใช้กัญชาอย่างเข้าใจ ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในการปลูกและการดูแลรักษา เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างถูกต้อง
“นโยบายกัญชาทางการแพทย์ได้รับการผลักดันมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ผ่านการพิจารณาร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ… ที่เป็นกฎหมายหลักในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ ก็มีกฎหมายลำดับรองดูแลในมิติต่างๆ และเมื่อกฎหมายหลักมีผลบังคับแล้วจะทำให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมเกิดประโยชน์ต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
Advertisement