Home การเมือง “จรุงวิทย์” ชี้ยังมีเวลาให้ ส.ว.พิจารณาโหวตนายกฯ

“จรุงวิทย์” ชี้ยังมีเวลาให้ ส.ว.พิจารณาโหวตนายกฯ

by Editor staff

ไฮไลท์การเมือง : 22 พฤษภาคม 2566 “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ยอมรับ MOU ไม่มี ม.112 ทำให้บรรยากาศ ส.ว.ไปในทิศทางดีขึ้น ระบุม็อบกดดัน ส.ว.โหวตนายกฯ ผลเสียมากกว่าผลดี

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา  สมาชิกวุฒิสภา มองว่าหากบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีประเด็นมาตรา 112 ก็จะทำให้บรรยากาศการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น   อย่างไรก็ตามมองว่าประเด็นดังกล่าว ส.ว.ยังมีเวลาในการตัดสินใจ  แต่ยอมรับท่าทีที่ยอมถอยในบางเรื่องของพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาล ดูดีขึ้น  จากนี้ก็คงต้องรอดูเรื่องของการจัดวางรัฐมนตรี และอีกหลายอย่างประกอบกันด้วย

สำหรับปัจจัยที่ จะประกอบการตัดสินใจของตน ว่าจะโหวตหรือไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คือ MOU ที่มีการตกลงร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาล   ตลอดจนโครงสร้างเรื่องของการปรับเปลี่ยนระบบราชการ   ซึ่งทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป  หากหักมากเกินไปอาจจะส่งผลทำให้การบริหารงานได้สะดุด  และเราไม่ต้องการจะให้เกิดการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณมาก

เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นเลขาคณะกรรมการการเลือกตั้งมาก่อน  การรับรองการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 60 วันจะสามารถทำได้เร็วขึ้นหรือไม่ หรือจะมีปัญหาสิ่งใดหรือไม่  พ.ต.อ.จรุงวิทย์  ระบุว่าจากการติดตาม  เชื่อว่า ขณะนี้เริ่มมีการพิจารณาแล้ว  และน่าจะไม่ช้า  ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาปัจจัยเรื่องร้องเรียนต่างๆ ประกอบกัน   ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ยอมรับว่าดีขึ้น การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งน้อยลง

เมื่อถามว่ามีใครมาประสานขอพูดคุยเจรจาให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่  นายจรุงวิทย์ ยอมรับว่ามีการประสานพูดคุย และมีการพูดคุยในหลักการบ้าง  ส่วนตัวยังไม่ตัดสินใจว่าจะโหวตหรือไม่โหวต  เพราะยอมรับว่าในขณะนี้ความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยที่จะโหวต  กลุ่มที่เห็นด้วย  และกลุ่มที่กำลังพิจารณาตัดสินใจ   ซึ่งกลุ่มที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจมีจำนวนมาก    ย้ำว่ายังมีเวลาในการพิจารณา  ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงของปลายเดือนกรกฎาคมที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวกดดันการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภา   นายจรุงวิทย์ มองว่าไม่เหมาะสม  เพราะควรจะปล่อยให้เป็นวิถีประชาธิปไตย ให้อำนาจในการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภามากกว่าการไปกดดัน   ซึ่งการกดดัน อาจกลายเป็นปัจจัยที่เป็นผลลบ ต่อกลุ่มที่อยู่ระหว่าง การตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภาที่จะโหวตให้อาจจะเป็นตรงกันข้ามได้ ซึ่งมองว่าไม่เป็นผลดี อยากให้เป็นดุลย์พินิจส่วนตัวของบุคคลมากกว่า

Advertisement

Related Articles

Leave a Comment

Are you sure want to unlock this post?
Unlock left : 0
Are you sure want to cancel subscription?
-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00