ไฮไลท์การเมือง : 5 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่าวันนี้ (5 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้ไล่โทรเช็กเสียง ส.ว. ต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ โดยเฉพาะ ส.ว. ที่ประกาศชัดเจนผ่านสื่อว่าจะโหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ 14 คน ได้แก่
1.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
2.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน
3.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล
4.นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล
5.นายประมาณ สว่างญาติ
6.นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ
7.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
8.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
9.น.ส.ภัทรา วรามิตร
10.นายทรงเดช เสมอคำ
11.นายวันชัย สอนศิริ
12.นางประภาศรี สุฉันทบุตร
13.นายมณเฑียร บุญตัน
14.นพ.เจต ศิรธรานนท์
ทั้งนี้พบว่าส่วนใหญ่ ยังคงมีจุดยืนเดิมที่จะโหวตตามเสียงข้างมาก แต่บางส่วนไม่รับสาย มีเพียง นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ที่ยอมรับว่าได้เปลี่ยนใจไม่โหวตให้ ส่วน นายทรงเดช เสมอคำ ที่แม้จะยืนยันว่าโหวตให้นายพิธา แต่เชื่อว่านายพิธา จะได้เสียง ส.ว. ไม่เพียงพอหากไม่ประกาศว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112 ด้านนายดิเรกฤทธิ์ เปิดเผยว่า ยังมีเงื่อนไขที่ต้องตัดสินใจในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่โดยหลักการก็ยึดตามเสียงข้างมากของสภา ส.ส.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการโทรศัพท์ไล่เช็กกับ ส.ว. วันนี้ (5 ก.ค.) มี 24 คนที่รับสาย โดยมี 8 คน ยืนยันไม่โหวตให้ เพราะติดเงื่อนไขการแก้มาตรา 112 , ส่วนอีก 5 คนโหวตให้ ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันมี 9 คน ขอตัดสินใจในวันโหวตเลือกฯ และอีก 2 คน ไม่ตอบคำถาม
สำหรับ ส.ว.หลายคน ที่ไม่โหวตให้ และยังไม่ตัดสินใจ ระบุว่า มีข้อกังวลในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และนโยบายเรื่องความมั่นคง อย่าง นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ส.ว.กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ รอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาต้องชั่งน้ำหนักถึงหลักการและเรื่องนโยบาย ซึ่งโดยหลักการนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็มาตามกฎหมายมาตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ดูเรื่องนโยบายว่าสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติหรือเปล่า เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การขึ้นค่าแรงต่อการลงทุนของต่างประเทศ การอยู่รอดของอุตสาหกรรมไทย เรื่องนโยบายต่างประเทศที่อาจจะสร้างปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน และกับประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น รวมถึงอีกหลายประเด็นที่เป็นห่วง ดังนั้นตนจึงยังไม่ตัดสินใจ เพราะเห็นว่าพรรคก้าวไกลก็ปรับนโยบายไปเรื่อยๆ และดูว่าวันสุดท้ายจะมีการชูนโยบายของตนเองให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. กล่าวถึง การตัดสินใจโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่ตนพิจารณาจากแนวคิด ยึดความมั่นคงของประเทศชาติ ศาสนาและประชาชนเป็นสำคัญ เพราะไม่อยากนอนผวาว่าวันดีคืนดี จะมีใครมาทำลายเรื่องของความมั่นคงของชาติ และส่วนตัวไม่ได้มองว่าใครจะสืบทอดอำนาจของใคร แต่จะขอยึดความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก ส่วนจะเลือกนายพิธาหรือไม่ คำตอบอยู่ในคำชี้แจงข้างต้นแล้ว
ด้านนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ยอมรับว่า ตอนแรกตนตัดสินใจจะโหวตให้นายพิธา แต่เมื่อพิจารณาจากนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ก็รู้สึกว่าไม่สามารถโหวตให้ได้แล้ว แต่หากนายพิธายอมยกเลิกการแก้ไขมาตรานี้ตนก็พร้อมที่จะโหวตให้
ส่วนก่อนหน้านี้มีหลายคนเลือกนายพิธา ตอนนี้มีเปลี่ยนใจแล้วหรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่าตั้งแต่เปิดประชุม ส.ว.มา ก็มีการพูดคุยเรื่องนี้มาโดยตลอด และมีที่ยังจะสนับสนุนนายพิธาไม่ถึง 10 คน พร้อมยอมรับว่า มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกลติดต่อกับส.ว.หลายครั้ง และหลายคน เพื่อพูดคุย แต่ส่วนใหญ่ตอบกลับไปว่าขอพิจารณาหน้างาน แต่ตนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลรู้ตัวแล้วว่าจะได้เสียงไม่ถึง
ด้านนายทรงเดช เสมอคำ ส.ว.ยังคงยืนยันที่จะโหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าเสียง ส.ว.ขณะนี้ ไม่สามารถทำให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้นายพิธา ออกมาประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112 เชื่อว่าจะเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีได้
สำหรับ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นว่า วุฒิสมาชิกมีวุฒิภาวะมากพอที่จะตัดสินใจลงหรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เลือกเพราะความคุ้นเคย ศรัทธา หรือผลประโยชน์อื่นใด พิจารณาเลือกเพื่อให้บริหารประเทศที่เขารัก เพื่อประชาชน เพื่อลูกหลานในอนาคต
Advertisement