ไฮไลท์การเมือง : 18 กรกฎาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีวิป 3 ฝ่ายยังไม่ได้ข้อยุติว่าในวันพรุ่งนี้ (19ก.ค.)จะสามารถเสนอชื่อนายพิธา รอบที่ 2 ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ว่า เรื่องนี้ในที่ประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้มีการอธิบายข้อกฎหมายว่าไม่เกี่ยวข้องกันก ารเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ อย่างไรก็ตามยอมรับว่ากังวลใจหากจะมีการคว่ำญัตติ เพื่อสกัดกั้นตนเพียงคนเดียว เพราะจะส่งผลต่อระบบทั้งหมด เนื่องจากจะมัดตน มัดพรรคก้าวไกล และจะมัดพรรคการเมืองอื่น ทั้งพรรคที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจะทำให้การเสนอชื่อคนดำรงตำแหน่งก็จะกลายเป็นญัตติไปหมดแล้วจะเป็นการผูกที่แก้ไขยาก ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากลงมติในครั้งแรกไม่ผ่าน เช่นอาจจะติดว่าเคยไปถ่ายรูปกับใครมา ถ้าถอยกลับมาก็อาจจะโหวตใหม่ไม่ได้ ดังนั้นตรงนี้ต้องดึงสติกันให้ชัด และต้องเห็นความแตกต่างระหว่างการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับญัตติ ซึ่งในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดว่าหากเสนอญัตติต้องเข้าชื่อกัน แต่กรณีนี้ไม่ใช่การยื่นญัตติ จึงคิดว่าหากไปตีความเพื่อสกัดตนแล้วส่งผลกระทบทั้งระบบเป็นเรื่องที่น่ากลัว และไม่ควรทำ
ส่วนความเป็นไปได้ในการขอเพิ่มเสียงโดยการดึงพรรคที่ 9 และที่ 10 มาร่วมนั้น นายพิธากล่าวว่ายังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เป็นเพียงเรื่องที่เลขาธิการพรรคไปสอบถามว่าจะมีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ ขณะที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ก็ดำเนินการตามที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสม ก็เข้าใจกันทุกฝ่าย ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร ส่วนหากมีพรรคไหนพร้อมโหวตให้จะให้ร่วมงานด้วยหรือไม่ก็ต้องเป็นเรื่องที่หารือกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเรื่องการปรับแก้ MOU เพื่อเปิดให้พรรคมาร่วมนั้น 8 พรรคยังคงเหมือนเดิมและไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคไหนว่าจะมาร่วม แต่ถ้าได้รับการตอบรับ ก็สามารถปรับยุทธศาสตร์ได้ไปเรื่อยๆเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ หากไม่ได้ผลลัพธ์อะไรก็แสดงว่ายุทธศาสตร์ที่ผ่านมาไม่สามารถต้านแรงสกัดได้ ก็ต้องถอยเพื่อให้บ้านเมืองไปต่อได้
ส่วนเสียงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอยู่ที่เท่าไหร่นั้น นายพิธากล่าวว่าเป็นไปตามที่ได้สื่อสารไว้ว่าหากเพิ่มขึ้นอีก 10 กว่าเปอร์เซ็นต์คือ 340-350 กว่า ตนเชื่อว่าเป็นทิศทางที่ดีที่เข้าใกล้ถึงเป้าหมาย รวมถึงเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่การตัดสินใจด้วยอารมณ์หรือถ่วงเวลาอะไรทั้งสิ้นแต่เป็นการตัดสินใจโดยสถิติและการโหวตมาตรานี้ เมื่อปี 2563 จนถึงปี 2565
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าหากพักก้าวไกลจะเปิดทางให้จะต้องออกแถลงการณ์ในนามพรรคนั้นนายพิธากล่าวว่าเมื่อถึงเวลาคงเป็นอย่างนั้น ส่วนการเตรียมแผนสำรองในการเสนอชื่อบุคคลอื่นแทนตนนั้นยังไม่เห็นสถานการณ์นั้น
เมื่อถามว่ายืนยันหรือไม่ว่าหากเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลจะอยู่ในสมการเดียวกัน นายพิธากล่าวว่า นั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะเป็นรัฐบาลที่ร่วมกันจัดตั้ง 8 พรรคมี MOU กันมาอย่างชัดเจน และทำงานมาถึงขั้นนี้แล้ว ตนก็คิดว่าหากตนในฐานะพรรคอันดับ 1 ไปต่อไม่ได้ ก็ส่งไม้ให้พรรคอันดับ 2 ก็คิดว่าคงจะอยู่ในเรือลำเดียวกัน ร่วมกันมาและตั้งรัฐบาลแห่งความหวังของประชาชน
ส่วนกรณีที่สว. ระบุว่าหากพรรคก้าวไกลไม่แก้ 112 ก็พร้อมที่จะโหวตให้นั้น จากการฟังการอภิปรายในวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นโอกาสทำให้เห็นภาพได้มากขึ้น โดยบางคนคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยืดหยุ่น ว่าตกลงใครเป็นคนฟ้องเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อไม่ให้ใครเอามาตรานี้มารังแกคนเห็นต่างทางการเมืองได้ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ฟ้องได้หมดรวมถึงเรื่องของสัดส่วนโทษ จึงเห็นว่าการอภิปรายในวันนั้นทำให้แนวคิดของ ส.ว.และตนเข้าใกล้กันมากขึ้น โดยเป็นเรื่องรายละเอียดแต่ละข้อที่ ส.ว.กังวลใจ จึงรู้สึกว่ามีความคืบหน้า ยืดหยุ่นพูดคุยกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจในสังคมไทย
เมื่อถามย้ำว่าพร้อมที่จะปรับเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่นายพิธากล่าวว่าขอฟังชัดๆ แล้วขอคุยกันอีกทีนึง นายพิธายังกล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคภูมิใจไทย บอกให้ลดเพดานแล้วพร้อมจะโหวตให้นั้นว่าตนไม่แน่ใจว่าข้อเสนอนี้ยังอยู่หรือจบไปแล้ว เพราะเห็นจากสื่อว่าจบไปแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำมาวิเคราะห์กัน
Advertisement