Home การเมือง มติวิป 3 ฝ่าย “เศรษฐา” ไม่ต้องโชว์วิสัยทัศน์

มติวิป 3 ฝ่าย “เศรษฐา” ไม่ต้องโชว์วิสัยทัศน์

รัฐสภา–“วันนอร์” คาด 22 ส.ค. ลงมติโหวตนายกฯ เสร็จ 5 โมงครึ่ง ขณะวิป 3 ฝ่ายไม่เปิดให้ “เศรษฐา” แสดงวิสัยทัศน์ก่อนโหวต ไม่พิจารณาญัตติทบทวนมติห้ามเสนอชื่อนายกฯซ้ำ

by Editor staff

ไฮไลท์การเมือง : 18 สิงหาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย พรรคการเมืองขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อย และวุฒิสภา ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันว่า การอภิปรายผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. จะใช้เวลา ไม่เกิน 5 ชั่วโมง โดยแบ่งให้ ส.ว. 2 ชั่วโมง และ ส.ส. 3 ชั่วโมง โดยจะลงมติไม่เกินเวลา 15.00 น. คาดว่าในเวลา 17.30 น. จะเสร็จสิ้นการลงมติ เป็นข้อตกลงร่วมกัน

ส่วนเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ประธานฝ่ายกฎหมายของสภาฯ แจ้งต่อที่ประชุมว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ และข้อบังคับในการประชุมก็ไม่มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบกับที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในการร่างข้อบังคับของรัฐสภาเมื่อปี 2563 ได้แสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งมีรายละเอียดการประชุมชัดเจนตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค.63 โดยมีมติของที่ประชุมคือวันที่ 24 ก.ค.63 ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากเห็นตามข้อบังคับที่ 36 ว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อไม่ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ เพราะฉะนั้นจึงต้องปฎิบัติตามนี้คือไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า สำหรับวาระการประชุม วาระแรกคือการเสนอญัตติด่วนในการประชุมที่ยังไม่ถูกนำมาพิจารณา โดยมีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอให้มีการทบทวบมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 กรณีเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำถือเป็นญัตติหรือไม่นั้น ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยให้นายรังสิมันต์แสดงเจตนารมย์เสนอ แต่ข้อบังคับที่ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้

“ถ้าทบทวนจะเกิดปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือต่อการลงมติ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเมื่อมีการนำเสนอแล้ว ให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจตัดสินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 ประกอบข้อบังคับที่ 5 และ 151 คือไม่รับว่าเป็นญัตติด่วน แต่สามารถนำมาเสนอได้ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงไปแล้ว ซึ่งหากทบทวนญัตติอื่นๆด้วยจะเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 ส.ค.66 ไม่ได้บอกให้ต้องทบทวน จึงจะดำเนินการตามนี้” ประธานรัฐสภา กล่าว

Advertisement

Related Articles

Leave a Comment

Are you sure want to unlock this post?
Unlock left : 0
Are you sure want to cancel subscription?
-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00