ไฮไลท์การเมือง : 2 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและกล่าวมอบนโยบายในการจัดทำงบประมาณปี 2567 โดยมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสากิจ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารในช่วงที่ประเทศเผชิญกับความท้าทาย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ และปัญหาโควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการเมืองระหว่างประเทศ โครงสร้างอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวไม่กี่หมวดสินค้า ปัญหาหนี้สินภาคเกษตรที่เรื้อรัง ซึ่งปัญหาทั้งหมดทำให้ประเทศมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ขณะที่สัดส่วนแรงงานต่อประชากรลดลง และรัฐใช้เงินมากขึ้นในการดูแลประชาชน ความเปราะบางที่เกิดจากหนี้สิน หนี้ครัวเรือน ค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นธรรม รวมถึงปัญหายาเสพติด ทำให้เกิดภาระการคลัง ทั้งแง่การลงทุน สวัสดิการและสาธารณสุข
ทั้งนี้ ในระยะสั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูรายได้ ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 67 อัดฉีดเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท เข้าไปในระบบกระตุ้นทั้งอุปสงค์-อุปทาน ในระยะเวลา 6 เดือนทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ ซึ่ง ครม.ได้ตั้งคณะกรรมการที่มาดูแลทุกด้าน ทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชั่น การหาแหล่งเงิน การกำหนดกฏระเบียบและสามารถได้ใช้แน่นอนภายใน ก.พ.นี้
ด้านการท่องเที่ยว จะมีการฟื้นฟูจากภายในและนอกประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการยกเว้นวีซ่าชั่วคราวจีนและคาซัคสถานไปแล้ว จะดำเนินการกับประเทศอื่นๆ อีก และจะมีการวางแผนและกำหนดมาตรการอื่นๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่นสนับสนุนค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวก หรือมาตรการอื่นๆที่เหมาะสม รวมถึง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือโรดโชว์ ด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มั่นใจว่า เราจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไปที่ 400 บาทต่อวันได้เร็วที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่าย รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งการลดค่าน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และในอนาคตหาแนวทางลดค่าพลังงาน ทั้งก๊าซหุงต้มและน้ำมันเบนซิน เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพประชาชน รวมถึงพักหนี้เกษตรกร เกือบ 2.7 แสนรายและดูแลกลุ่มอื่นๆ ต่อลมหายใจกลุ่มที่เดือดร้อน
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะมีทำประชามติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในระยะยาวจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติทั้งการสร้างรายได้ ขยายโอกาส และดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง มีการเพิ่มรายได้สุทธิในภาคเกษตร เปิดการค้าระหว่างประเทศ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุน จะใช้หลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เป้าหมาย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี
ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว ผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโตได้ ขยายเป็นยูนิคอร์นได้ในอนาคต จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม ต้องมีการวางแผนจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ พัฒนาระบบรางรถไฟ ส่งสินค้าไปเมืองต่างๆและไปต่างประเทศได้ รวมถึงมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม ต่อยุทธศาสตร์ประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน เร่งเจรจา FTA ที่ค้างกับอียู และเปิดตลาดใหม่ ทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกา และด้านการทูตจะทำงานเชิงรุก เพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว และรักษาความเป็นกลางระหว่างขั้วอำนาจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการในหลายมาตรการจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น สามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และปริญญาตรี 25,00 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570
สำหรับเรื่องภัยธรรมชาติ เตรียมรับมือ เอลนิญโญ่ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 40 ล้านไร่ วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ ทำให้น้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง ในฤดูต่างๆ เดินหน้าแก้ไขฝุ่น PM2.5 และรัฐบาลเตรียมออก Sustainability Bond วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ในปีงบ 67 เพื่อทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายสร้างความยั่งยืน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการจำกัดเจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นนายประชาชน ซึ่งตนรับไม่ได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน และขอให้ผู้บริหารหน่วยราชการช่วยกันกำกับดูแลการทำงานอย่างขะมักเขม้น แต่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สร้างวิธีการทำงานที่เน้นผลลัพธ์ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มากกว่าแค่ทำตามกระบวนการ และขอให้ยึดโยงกับประชาชนเสมอ ในปีงบประมาณ 2567 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และแผนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รัฐบาลจะมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะตั้งใจที่จะบริหารจัดการการคลังด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยการวางแผนใช้จ่ายงบประมาณปี 67 วางกรอบความสำคัญ 5 ข้อ ข้อแรก ขอให้จัดทำงบและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไป และคำนึงถึงกรอบกฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอให้ทุกๆหน่วยงานพิจารณาดูว่าอะไรที่ทำได้ก็ขอให้ดำเนินการทำไปก่อน แต่อย่าลืมเรื่องความถูกต้องตามกระบวนการ
ข้อที่สอง ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ วางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หลายโครงการในอดีตที่เคยทับซ้อนกัน ขออย่าให้เกิดภาพแบบนั้นอีกภายในรัฐบาลนี้
ข้อที่สาม ขอให้วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง
การทำแผนงานหรือโครงการ ขอให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นโยบาย แผนงาน ใดที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ก็เริ่มดำเนินการได้เลย ซึ่งโครงการเหล่านี้ ว่าจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะไม่ต้องใช้งบลงทุนสักบาท และขอให้ทำงบแบบฐานศูนย์ หรือ Zero-based โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่จะต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน และขอให้ทุกหน่วยงานนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าเงินภาษีของพวกเขา ถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อที่สี่ โครงการ แผนงานต่างๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมาย ที่ก่อให้เกิดผลดีกับประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ
“ตนไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศ เพราะจะเป็นการนำภาษีประชาชนไปละลายแม่น้ำ ไม่สนับสนุนการนำงบประมาณไปทำอะไรที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน ฉะนั้น ขอให้พิจารณาลดแผนงานหรือโครงการต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกแผนงานหรือโครงการ ที่ไม่มีความชัดเจน เพื่อให้การใช้งบประมาณอย่างตรงเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ นำงบประมาณไปใช้ทำโครงการอื่นที่เกิดผลเชิงบวกต่อไป” นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อที่ห้า ขอให้จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน ทั้งเงินนอกงบประมาณ และเงินงบประมาณ หลายๆหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้ เงินสะสม ขอให้นำมาใช้ดำเนินภารกิจก่อน และขอให้ช่วยกันลดภาระงบประมาณประเทศ โดยพิจารณาการใช้เงินแหล่งอื่นๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เป็นต้น
“ทุกคนที่อยู่ในที่นี้ล้วนเป็นตัวแทนจากภาครัฐทั้งหมด เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะต้องช่วยกันดูแลสถานะ ความมั่นคง ของการเงินการคลังในระยะยาวถึงแม้งบประมาณปี 67 จะล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด ฉะนั้นในการทำงบประมาณปีนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาประเด็น ทั้งกรอบความสำคัญทั้ง 5 ข้อ ได้แก่ ทำงบประมาณตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน ทำอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง ทำอย่างมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน และยึดวินัยการเงินการคลัง” นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้จัดส่งให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานวางแผนงบประมาณให้มีสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้ภาษีของประชาชนทุกบาท ทุกสตางค์ อย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน
Advertisement