ไฮไลท์การเมือง : 26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกา – ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” สั่งย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชี้ ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ พร้อมสั่งเพิกถอนหมายจับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 ธ.ค.)ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.11/2565 ที่มีอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
องค์คณะตุลาการ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีมติเสียงข้างมาก ยกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยจากการไต่สวน และใช้ดุลพินิจพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องดังกล่าวเป็นคนละประเด็น กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงไม่มีผลผูกพันกัน เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาวินิจฉัยจากการกระทำ ศาลจึงมีความเห็นว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย โดยไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับนายถวิล
ขณะเดียวกันการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว ตั้งแต่สมัย พลโทสุรพล เผื่อนอัยกา อีกทั้งการไต่สวนยังพบว่า ไม่มีเจตนาสมคบคิดกันในการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล แม้จะเป็นการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 4 วัน แต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้ทัน เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง และถือเป็นไปตามปกติ ไม่พบพิรุธ ที่จะส่อให้เห็นถึงการทุจริตต่อหน้าที่ ที่จะเสนอให้พลตำรวจเอกเพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายวิญญัติ ชาติมนตรี และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความประจำตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ว่า ขอบคุณศาลฎีกา ที่พิจารณาจากเจตนา และถือว่าต้องเป็นกรณีศึกษาทางข้อกฎหมาย เพราะจะเห็นได้ชัดว่าศาลฎีกา ไม่ได้หยิบคำพิพากษาของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาด้วย เหตุผลว่าเป็นคนละกรณี
นายวิญญัติ กล่าวว่า ส่วนหากอัยการจะมีการยื่นอุทธรณ์ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เราก็ต้องพิจารณาก่อนว่าจะอุทธรณ์ในประเด็นใด แต่การจะยื่นอุทธรณ์ได้จะต้องผ่านด่านแรก คือ การรับคำอุทธรณ์ ซึ่งเป็นมติจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากมีมติไม่รับ ก็ถือว่าคำพิพากษาวันนี้เป็นที่สิ้นสุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้พูดคุยกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากนี้ก็จะโทรรายงานให้ทราบถึงผลคำพิพากษายกฟ้อง
ขณะที่นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ระบุว่า หากอัยการจะยื่นอุทธรณ์จะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนมากขึ้น และที่สำคัญต้องรอด้วยว่าศาลจะวินิจฉัยรับอุทธรณ์ตามพยานหลักฐานที่ยื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่
Advertisement