ไฮไลท์การเมือง : 30 สิงหาคม 2567 ธปท. เผยเศรษฐกิจไทย ก.ค.67 ฟื้นตัว แรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ พร้อมดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไป จนภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) แถลงภาาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม เศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้นหลังชะลอลงในเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้าและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนและจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่สูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นสะท้อนจากการจ้างงานในระบบประกันสังคมทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในธุรกิจกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มผลิตปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ประกอบกับการระดมทุนผ่านสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนส่งและก่อสร้าง
นางสาวชญาวดี ระบุถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มาจากปัจจัยหลายด้านได้แก่ 1) ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯหลังตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด 2) การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินเยน จากธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาด และ 3) แรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธปท. ดูแลในด้านความผันผวน โดยจะดูแลไม่ให้ผันผวนสูงเกินและต่อเนื่อง จนภาคธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจมีการเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธปท. ก็มี FX Ecosystem ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน
ธปท.ประเมินแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรม ที่จะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง ทั้งนี้ในระยะต่อไปยังต้องติดตาม 1) ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ 2) การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต และ 3) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
Advertisement