ไฮไลท์การเมือง : 20 กันยายน 2567 ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แก้หนี้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางต้องปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าลดดอกเบี้ย มองเฟดลดดอกเบี้ย กนง. ไม่จำเป็นต้องลดตาม แต่พิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-เสถียรภาพการเงิน ยินดีเข้าหารือ รมว.คลัง-รมว.พาณิชย์
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานเปิดงาน BOT Symposium 2024 “หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow” โดยกล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย เพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 90% ของจีดีพี ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการที่ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอ คนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพิงสินเชื่อ และอาจกู้เกินศักยภาพหากสถาบันการเงินไม่สามารถประเมินความเสี่ยงที่แท้จริง ขณะที่นโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเน้นการให้ความช่วยเหลือเพียงระยะสั้น
เมื่อถามว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้หรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า การลดดอกเบี้ยอาจทำให้ภาระหนี้เก่าลดลง แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าหากลดดอกเบี้ยแล้วจะทำให้สินเชื่อใหม่โตเร็วขึ้นด้วยหรือไม่ ต้องชั่งน้ำหนักทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ จะคาดหวังว่าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วภาระหนี้ทุกคนจะลดคงไม่ใช่ ส่วนกรณีที่มีการเสนอมาตรการแฮร์คัทหนี้ จำเป็นต้องดูแลในระยะยาวและถูกจุด อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของ ธปท. ในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน
ผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวถึงกรณีที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่ที่ได้รับผลกระทบมากคือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และราคาทองคำที่ทำ All time hight ส่วนผลกระทบต่อนโยบายการเงินของไทยนั้น ธปท. ยังคงพิจารณาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย (Outlook Dependent) 3 ปัจจัยเป็นหลัก ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ส่วนเสถียรภาพทางการเงิน พบว่าความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) มีสูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องพิจารณา ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็น K Shape
“อัตราดอกเบี้ยคือหนึ่งในเครื่องมือนโยบายทางการเงิน โดย ธปท.ใช้นโยบายแบบ Policy Mix ซึ่งมองว่าการลดภาระดอกเบี้ยในกลุ่มเปราะบาง อาจส่งผลได้ไม่มากนัก เท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
สำหรับเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น พบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้ว 3.4% ซึ่งไม่เฉพาะไทยเท่านั้น แต่ยังมีประเทศอื่นที่แข็งค่าเช่นกัน เช่น มาเลเซีย เงินบาทแข็งค่าเกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า เฟดลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือค่าเงินบาทผันผวนเกินไป ที่เกิดจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่ง ธปท.ยังคงมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องการหารือเรื่องกรอบเงินเฟ้อ ลดดอกเบี้ย ค่าเงินบาท และการเพิ่มเม็ดเงินสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผู้ว่าการ ธปท. บอกว่ายินดีที่จะเข้าไปหารือ และตนต้องเป็นฝ่ายเข้าไปพบท่านมากกว่า
Advertisement