ไฮไลท์การเมือง : 30 กันยายน 25677 “วราวุธ” รมว.พม. เปิดงานวันผู้สูงอายุสากล 2567 ย้ำ ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์แล้ว ดัน นโยบาย พม. 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร
วันที่ 30 กันยายน 2567 ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี 2567 (International Day of Older Persons 2024) ภายใต้แนวคิด “การสูงวัยอย่างมีศักดิ์ศรี : ความสำคัญของการเสริมสร้างระบบการดูแล และสนับสนุนผู้สูงอายุทั่วโลก” “Ageing With Dignity: The Importance Of Strengthening Care And Support Systems For Older Persons Worldwide” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงานถึงการจัดงาน และนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดงาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
ในงานมีการกล่าวสาส์นสากล โดยนางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่ง (UNFPA) ประจำประเทศไทยอาจารย์นคร ถนอมทรัพย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล – ประพันธ์และขับร้อง) พุทธศักราช 2554 อายุ 92 ปี ร้องเพลง “สดใสวัยชรา” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จากนั้นมีพิธีแสดงความยินดี นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ผู้นำขบวนการแพทย์ชนบท” (RURAL DOCTORS MOVEMENT) ได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซไซ (Ramon Magsaysay Award) ประจำปี 2567
สำหรับภายในงานมีการจัดกิจกรรมในบรรยากาศย้อนไปในยุคดิสโก้ หรือยุค 70 อาทิ การประกาศเจตนารมณ์วันผู้สูงอายุสากล , นิทรรศการวิชาการ นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร , นิทรรศการระบบการดูแลและสนับสนุนผู้สูงอายุ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ , การสาธิตผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุศูนย์การเรียนรู้การแสดงทางวัฒนธรรมและการสร้างเศรษฐกิจเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน , การสาธิตดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล , บริการตรวจสุขภาพฟัน โดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ , บริการตรวจสุขภาพ โดยโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง
นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล ถือเป็นวันเฉลิมฉลองที่สำคัญของผู้สูงอายุทั่วโลก เพื่อแสดงถึงคุณค่าของผู้สูงอายุให้คนทั่วไปตระหนักว่าตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ผู้สูงอายุได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง คุณงามความดี รวมทั้งสรรค์สร้างทุกสิ่งให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงได้จัดงานมหกรรมวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี 2567 เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ ในความสูงอายุยิ่งมีความสูงค่า เพราะผู้สูงอายุเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวิต ผู้มากประสบการณ์ ไม่ใช่ผู้รอรับการสงเคราะห์ สามารถเป็นพลังของสังคมและเป็นส่วนสำคัญและเป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ด้วยการใช้ศักยภาพมาร่วมพัฒนาสังคม และมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามมาตรการสำคัญ 5 มาตรการ ภายใต้นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ของกระทรวง พม. ได้แก่ 1. การมุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค 2. การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 4. การส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อม ทั้งภายในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชน และ 5. การส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติ ผู้สูงอายุทุกจะเป็นพลัง เป็นทรัพยากรที่สำคัญ เป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ผู้สูงอายุไม่ได้เป็นภาระหรือผู้ไม่มีศักยภาพ
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. และเครือข่ายทุกภาคส่วนจะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้านการดูแลผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในชุมชนของตนเองได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน และจะเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังหลักคอยสนับสนุนคนรุ่นต่างๆ ในสังคมไทย
Advertisement