Home เศรษฐกิจ รัฐบาลเคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่ครบวงจรเน้น “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้หนี้ ปชช. กระตุ้นลงทุน”

รัฐบาลเคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่ครบวงจรเน้น “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้หนี้ ปชช. กระตุ้นลงทุน”

by Editor staff

ไฮไลท์การเมือง : 19 พฤศจิกายน 2567 นายกฯ แพทองธารนั่งหัวโต้ะ คกก.ศก.ชุดใหญ่ เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่ครบวงจรเน้น “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้หนี้ปชช. กระตุ้นลงทุน” มั่นใจปีหน้า ศก. ไทยกลับคึกคัก

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2567) เวลา 13.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 GDP ขยายตัวที่ 3% ต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ขยายตัว 1.6% และ 2.2% ตามลำดับ โดยเมื่อรวมทั้ง 3 ไตรมาส พบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคภาครัฐบาล การลงทุนภาครัฐ การส่งออก การบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างสำหรับตัวเลขของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะมีศักยภาพเติบโตได้มากกว่านี้ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้น เพื่อผลักดันนโยบายตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาเพื่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพไปพร้อม ๆ กับการดูแลคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งกำหนดแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว สำหรับระยะสั้นนี้ รัฐบาลจะมุ่งเน้นในการเพิ่มรายได้และบรรเทาค่าครองชีพสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการผ่านการอุดหนุนค่าครองชีพสำหรับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย และกลุ่มคนพิการ ดังนั้น ในระยะต่อ ๆ ไป ควรพิจารณาความเหมาะสมในการช่วยเหลือแก่กลุ่มอื่น ๆ ต่อไป เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่าภาระหนี้สินประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ว่าในช่วงกลางปี 2567 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะดีขึ้นโดยปรับตัวลดลงเหลือ 89.6% จาก 90.7% ของไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง ในแต่ละเดือนประชาชนมีภาระในการชำระหนี้สูง และอาจมีความเสี่ยงในการที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ จึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และสินเชื่อ SME ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณาออกแบบมาตรการแก้ปัญหาหนี้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของประชาชน

“รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาซึ่งขณะนี้ยังอยู่ที่ประชาชน แต่เมื่อมองไปข้างหน้าในระยะยาวรัฐบาลก็จะให้ความสำคัญกับมาตรการ เพื่อจะเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการชุดนี้จะร่วมกันกำหนดและออกแบบนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรับทราบการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ พร้อมรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3/2567 และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 และที่ประชุมเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเห็นชอบหลักการแนวทางและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านผู้สูงอายุ “เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้สูงอายุให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยจะดำเนินการเงินหมื่นเฟสต่อไปให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐสำเร็จ และต้องไม่เป็นกลุ่มเป็นเป้าหมายตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ คาดว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายนี้ไม่เกิน 4 ล้านคน โดยจะเร่งจ่ายเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนไม่เกินเดือนมกราคม 2568” นายจิรายุกล่าว

Advertisement

Related Articles

Leave a Comment

Are you sure want to unlock this post?
Unlock left : 0
Are you sure want to cancel subscription?
-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00