ไฮไลท์การเมือง : 24 พฤศจิกายน 2567 ประธานสภาพัฒน์ฯ มองไทยเสี่ยงถูกตอบโต้ทางการค้าจากสหรัฐฯ หลัง “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง คาดขึ้นภาษีก่อน เรียกเจรจารายประเทศ เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวกดดันผลิต-ส่งออกไทยด้วย ชี้หนี้ครัวเรือน-SMEs ยังพุ่ง
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย” ในการสัมมนา หอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 42 ที่จังหวัดชลบุรี วานนี้ (23 พ.ย.) โดยระบุว่าความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย ต้องได้มาจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศและต้องจัดการกับ ความท้าทายที่เข้ามากระทบภายในประเทศ ประกอบด้วย 3 ข้อ คือ 1) ต้องบริหารความเสี่ยงจากความมั่นคงของประเทศที่สั่นคอนโดยเห็นได้จากสงครามระหว่างประเทศ 2) นโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่เสื่อมลงในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยังมีปัญหาที่รอการแก้ไขของประเทศไทย 6 ปัญหาหลัก ได้แก่
1.หนี้ครัวเรือนและหนี้ SMEs ที่มีระดับสูง ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง เพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศ
2.ประชาชนไทย เข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้ GDP มีแนวโน้มขยายตัวช้าลง 0.8-1% ต่อปี และขาดแคลนแรงงานมากเกิน ภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
3.คุณภาพของการศึกษาถดถอยลงมาโดยตลอด
4.ภาคเกษตรขาดประสิทธิภาพ ผลผลิตต่ำคิดเป็น 9% ของ GDP
5.ราคาพลังงานแพงกว่าประเทศคู่แข่ง และการพึ่งพาการนำเข้าแก๊สธรรมชาติและน้ำมันดิบเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 9% ของ GDP ส่งผลให้ประเทศไทยจะเผชิญความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์
6.การขาดดุลงบประมาณ สัดส่วนการจัดเก็บภาษีลดลง 15% ของ GDP แต่รายได้ประจำเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังประสบความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย
ทั้งนี้ ปัญหาใหม่ที่ประเทศไทยต้องประสบจาก 2 มหาอำนาจระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในส่วนของประเทศจีน กำลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยการเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศเป็นเรื่องรอง โดยมุ่งเน้นส่วนแบ่งตลาดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของทุกประเทศ ส่งผลให้กดดันกำลังการผลิตและการส่งออกสินค้าของประเทศไทยด้วย
นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีนโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ชัดเจน ซึ่งประเทศไทยจะอยู่ในประเทศที่เกินดุลของสหรัฐฯ ถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ของประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 10% ของ GDP ซึ่ง ทรัมป์ มองว่าจากการที่ประเทศต่าง ๆ เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นการที่สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบ ถูกโกงจากประเทศต่าง ๆ โดยจะมีนโยบายการปรับภาษีนำเข้าจากประเทศเกินดุล 10-20% และจะเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศจีนสูงถึง 60% รองลงมา คือสหภาพยุโรปเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดย ประเทศไทย เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 12 และขึ้นบัญชีประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 10-20% และจะมีการเจรจากับประเทศต่าง ๆ เป็นกรณีไป นอกจากนี้ ประเทศไทย เก็บภาษีศุลกากรนำเข้าเฉลี่ยจากสหรัฐฯ ประมาณ 9.7% โดยจะถูกจับตามองเป็นพิเศษโดยเฉพาะสินค้าเกษตรของประเทศไทยที่เก็บภาษีผักผลไม้นำเข้าจากสหรัฐฯ สูงเป็นพิเศษ 20-30% อีกทั้ง ประเทศไทยได้มีการห้ามนำเข้าเนื้อหมู เนื้อวัว โดยอ้างถึงสารเนื้อแดง ทำให้สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทยเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นเป้า จากนโยบายการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ นายสก็อตต์ เบสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่านโยบายการเก็บภาษีศุลกากรจะสร้างอำนาจต่อรองของสหรัฐฯ กับนานาประเทศซึ่งจะสอดคล้องและส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้ง ความเสี่ยงที่จะการเกิดสงครามการค้าโดยรวมของทั่วโลกจะทำให้การค้าหดตัวลง โดยหากเกิดขึ้น จะกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกถึง 50% ของ GDP ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของสหรัฐฯ คือ ผลกระทบด้านความมั่นคงและด้านดอกเบี้ยกับประเทศไทย ในส่วนด้านความมั่นคงนั้น สหรัฐฯ ต้องการให้ประเทศพันธมิตรจ่ายเงินสนับสนุนการป้องกันประเทศของตนเองเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดภาระทางทหารของสหรัฐฯ ตลอดจนนโยบายการเพิ่มภาษี และนโยบายการเนรเทศคนต่างด้าว 11 ล้านคน ของ ทรัมป์ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เงินเฟ้อลดลงช้า ดอกเบี้ยสูงขึ้น และนโยบายการลดภาษีนิติบุคคลและการลดภาษีคนรวยจะส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณและดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทบประเทศไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สำหรับ ปัญหาที่คั่งค้างของประเทศไทย ทั้งปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้สาธารณะในระดับสูง และข้อจำกัดของนโยบายการคลัง โดยแนวทางในการจะแก้ไขของประเทศไทย คือ ต้องทำให้ GDP ของประเทศเติบโตได้อย่างเร็ว ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ต้องพยายามป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ และปัจจัยในประเทศ คือ ความพยายามในการจะเพิ่มประสิทธิภาพปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งประเทศไทย ต้องเร่งลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกาย ที่แข็งแรงและสามารถทำงานได้นานขึ้น หรือเสียชีวิตเร็วเพื่อลดภาระในการดูแล เป็นต้น
หากพิจารณาถึงกลยุทธ์ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยจากการจัดลำดับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย พบว่า ประเทศไทยมีจุดแข็ง ได้แก่ ความคุ้นเคย ชื่อเสียง ธุรกิจและการค้า มรดกทางวัฒนธรรม ผู้คนและค่านิยมของคนไทย ในส่วนจุดอ่อน ได้แก่ การศึกษาและธรรมาภิบาล เป็นต้น พร้อมทั้งอาหารก็ถือเป็นจุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของประเทศไทย ที่จะต้องพยายามสร้างประสบการณ์และเน้นการให้บริการที่มีมูลค่าสูง สำหรับภาคบริการ ทุกประเทศในโลกผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักจะปรับเปลี่ยนมาเป็นการพึ่งพาภาคบริการที่มากยิ่งขึ้น เห็นได้จากมูลค่าภาคบริการ เช่น สหรัฐฯ คิดเป็น 70% ของ GDP ขณะที่ประเทศไทย คิดเป็น 58.5% ของ GDP และจีน คิดเป็น 54.6% ของ GDP เป็นต้น โดยภาคอุตสาหกรรม จะต้องหันมาพัฒนาในกลุ่มเฉพาะทางและมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเครื่องมือแพทย์ อาหารเชิงสุขภาพ บรรจุภัณฑ์ เครื่องสำอาง ผ้าไหม แฟชั่นเมืองร้อน ซึ่งต้องพัฒนาคุณภาพให้ตรงความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาจุดแข็งด้านซอฟต์พาวน์เวอร์ ด้วยการแปลงสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
Advertisement