ไฮไลท์การเมือง : ไทยขับเคลื่อน “แก้ปัญหาประมง” อย่างยั่งยืน ด้วยแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์ฯ พ.ศ. 2566 – 2570
13 ก.พ. 65 รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing; Illegal Unreported and Unregulated Fishing) มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีจำนวนเรือประมงลดลง และเครื่องมือประมงบางชนิดถูกยกเลิกห้ามทำการประมง ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีจำนวนมากขึ้น
ล่าสุด จากรายงานพบวาฬบรูด้าในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน และปลาฉลามวาฬในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ถือว่าสัตว์ทะเลเหล่านี้เป็น “ตัวชี้วัด” ความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร
การแก้ปัญหาประมงที่ผิดกฎหมายของประเทศไทยที่ผ่านมานั้น ดำเนินการควบคู่กับกฎระเบียบว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมของประเทศสหรัฐอเมริกา (Marine Mammal Protection Act: MMPA) ซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 โดยกำหนดช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน หรือช่วงเวลาผ่อนผัน 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564)
หากประเทศที่ส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐอเมริกา ไม่ดำเนินการจัดส่งข้อมูลตามที่ประเทศสหรัฐอเมริการ้องขอ หรือไม่ผ่าน หลังจากระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี นับแต่กฎระเบียบ MMPA ประกาศใช้บังคับประเทศดังกล่าวจะไม่สามารถส่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐอเมริกาได้ โดยจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2566 (ขยายเวลาการบังคับใช้กฎระเบียบ MMPA จากเดิมวันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็น 1 ม.ค. 2566)
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570
แผนปฏิบัติการดังกล่าวมีข้อมูลที่จำเป็น ทั้งด้านชีววิทยา การประมง กฎหมาย มาตรการต่างๆ ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 19 แผนงาน ซึ่งจะช่วยลดการบาดเจ็บและการตายของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่มาจากเครื่องมือประมงได้
Advertising