⇒ ชาวสวนปาล์มขอบคุณ “ประวิตร” ผลักดันส่งออกปาล์มน้ำมัน จนเป็นพืชเศรษฐกิจแถวหน้า
ไฮไลท์การเมือง : วันนี้ (26 เมษายน 2565) เวลา 08.15 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสุพิท มีแก้ว ประธานชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และแกนนำเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จากพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เข้าพบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องปาล์มน้ำมัน โดยได้ยื่นหนังสือ 4 เรื่องประกอบด้วย 1. ขอให้จัดทำโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมสำหรับปาล์มน้ำมันทั้งระบบ 2. ขอให้ติดตั้งมิเตอร์วัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อวัดเปอร์เซ็นต์การผลิตจากโรงงาน 3. ขอให้ควบคุมราคาน้ำมันผ่านแดน ไม่ให้มีการตกหล่นหรือลักลอบนำเข้ามาใช้ในประเทศ และ 4. ขอให้เร่งสัมปทานบรรเทาราคาปุ๋ย พร้อมขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่เพิ่มรายได้ดันปาล์มน้ำมันขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจชั้นแนวหน้า โดยมี พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะประธานอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ เข้าร่วมด้วย
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กนป. ได้ย้ำกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์มกว่า 20 รายที่เข้าพบหารือเรื่องปาล์มน้ำมันว่า ปัญหาปาล์มน้ำมันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ต้องมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาตลอด 7 ปี และประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา เป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 1.1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสต๊อกส่วนเกินที่สอดคล้องกับฤดูกาลผลิต การส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน การแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก มาตรการด้านอุปสงค์และอุปทาน และให้เป็นไปตามโครงสร้างที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งเร่งรัดติดตั้งมิเตอร์ปาล์มน้ำมัน การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มความต้องการใช้ภายในประเทศและส่งออกเป็นสินค้าสำเร็จรูป 8 ชนิด รวมทั้งมอบหมายคณะทำงานดูแลเรื่องการยกร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆที่ติดขัดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นให้พี่น้องชาวสวนปาล์มมีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
ด้าน พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา การยกระดับรายได้ของชาวสวนปาล์ม ได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมูลค่าปาล์มทะลายเพิ่มจาก 5 หมื่นล้านบาทในปี 2562 เป็น 7 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 และ 1.1 แสนล้านบาทในปี 2564 รวม 3 ปี 2.3 แสนล้าน และปี 2565 คาดว่าจะมีเม็ดเงินเป็นรายได้ตกถึงชาวสวนปาล์มอีกไม่น้อยกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยที่รัฐไม่ต้องใช้เงินประกันรายได้เลยแม้แต่สตางค์เดียว ในขณะที่ผลิตผลการเกษตรอื่นกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิดและสภาวะเศรษฐกิจ แต่ราคาปาล์มน้ำมันกลับวิ่งตามราคาตลาดโลก ทั้งที่โดนปรับลดส่วนผสมในไบโอดีเซลลงเท่าตัว จาก บี10 เป็น บี5 และการบริโภคน้ำมันปาล์มภายในประเทศที่ลดลงจากผลกระทบของการสั่งปิดร้านอาหารป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด แต่พลเอกประวิตรกลับตัดสินใจผลักดันการส่งออกในราคาที่แข่งขันได้ สร้างความต้องการให้กับน้ำมันปาล์มส่งออกมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพื่อบริหารสต๊อกและส่งผลให้ราคาปาล์มทะลายของไทยขึ้นตามราคาตลาดโลกอย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกกดราคาเหมือนปีก่อนๆ
นอกจากนี้ พลเอก ประวิตร ยังสั่งการให้แก้ไขปัญหาทั้งระบบตั้งแต่ระดับต้นน้ำ คือลดการตัดปาล์มดิบและการซื้อขายปาล์มที่ไม่เป็นธรรมให้มีมาตรฐานดีขึ้น ระดับกลางน้ำคือการปรับปรุงอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มดิบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและปลายน้ำคือหาแนวทางการแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 8 ชนิดที่ กนป. ได้มีมติเห็นชอบและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีแล้วและคาดว่าไม่เกินปี 2568 จะมีการนำน้ำมันปาล์มไปใช้ผลิตสินค้าใหม่ๆเหล่านั้น เพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปยังตลาดโลก โดยไม่ต้องห่วงว่าหากมีการลดส่วนผสมน้ำมันปาล์มในไบโอดีเซล แล้วจะทำให้ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำเพราะนี่เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ประธาน กนป. ยังเร่งรัดให้มีการจัดทำโครงสร้างราคาที่มีความล่าช้า เร่งรัดให้ติดตั้งมิเตอร์เพื่อการตรวจสอบระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มและการปรับปรุงระบบการตรวจสอบระดับสต๊อกให้ทันสมัยและถูกต้อง การแก้ปัญหาการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์ม การต่ออายุมาตรการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม และการคงสัดส่วนสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซลที่ 5% หรือ บี5 ชั่วคราวช่วงวิกฤตยูเครนเท่านั้น เรื่องสำคัญเร่งด่วนอีกประการ คือ การยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่สำหรับปาล์มน้ำมัน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ดังนั้นอนาคตปาล์มน้ำมัน จึงมีอนาคตที่สดใสสมกับที่ได้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยในช่วงที่อยู่ในการกำกับดูแลของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
Advertisement