⇒ รัฐบาลหนุน Startup เว้นภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี
ไฮไลท์การเมือง : 16 ตุลาคม 2565 รัฐบาลพร้อมส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คาดกระตุ้นเงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 320,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 400,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2569
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐบาล มีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วในเรื่องมาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gain Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 5 อุตสาหกรรม S-Curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวม 2 อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาคือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา ผ่าน Venture Capital โดยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือน เพื่อเสริมสร้างการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยขณะนี้พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750) พ.ศ. 2565 (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 ซึ่งการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี Capital Gain Tax จะทำให้การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะไม่ต้องเสียภาษีเหมือนในอดีต ที่นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ลงทุนในบริษัท ห้างหุ้นส่วนต่างๆ เมื่อมีการขายหุ้นแล้วหุ้นมีกำไรก็ต้องมีการเสียภาษี Capital Gain 15% ทำให้หนีไปลงทุนที่ต่างประเทศแทน อีกทั้งการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี Capital Gain Tax ยังส่งผลดีต่อสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ซึ่งนักลงทุนก็จะมาตั้งกองทุนที่เรียกว่า Venture Capital หรือ VC เป็นธุรกิจร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะเป็นธุรกิจสำคัญที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศไทยด้วย
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax เป็นการบูณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น เสริมสร้างการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“จากการประเมินของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่ามาตรการ Capital Gains Tax จะกระตุ้นทำให้ไทยมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพภายในปี 2569 เพิ่มขึ้นกว่า 320,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 400,000 ตำแหน่ง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 790,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax” นายอนุชา กล่าว
Advertisement