⇒ ไทยประสบความสำเร็จ ผู้นำเอเปครับรอง “Bangkok goals on BCG Economy”
ไฮไลท์การเมือง : 20 พฤศจิกายน 2565 ทำเนียบรัฐบาล นายกฯ สุดปลื้ม ผู้นำเอเปคทุกเขตเศรษฐกิจร่วมรับรอง “Bangkok goals on BCG Economy” ชื่นชมความริเริ่มของไทย เชื่อมั่นโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสร้างการเติบโตของประเทศ ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำเอเปคจากทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมรับรอง ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 รวมทั้งได้ร่วมรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ “Bangkok goals on BCG Economy” ซึ่งทั้งในช่วงระหว่างการประชุมฯ และระหว่างการหารือแบบทวิภาคี ผู้นำเอเปคฯ ได้กล่าวชื่นชมความริเริ่มที่ประเทศไทยได้นำเสนอแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการประชุมฯ ครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสร้างการเติบโตของประเทศ และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ริเริ่มโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ตัว “B” คือ Bioeconomy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ตัว “C” คือ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และตัว “G” คือ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว โดยมุ่งหวังให้เป็นกลไกยกระดับสถานะของประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในประชาคมโลก ทั้งนี้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยมีความสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) มากถึง 13 จาก 17 เป้าหมาย
ทั้งนี้ จากการริเริ่มนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศในระยะเวลาประมาณ 2 ปี สามารถเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรม สอดรับกับเป้าหมายกรุงเทพ (Bangkok goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ประเทศไทยได้มีการนำเสนอในการประชุมผู้นำเอเปคในครั้งนี้ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้ง 4 เป้าหมาย ดังนี้
1.จัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การปลูกป่าโดยเอกชนและประชาชนโดยมีการจัดสรรคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ที่ปลูกป่า บำรุง อนุรักษ์ป่า โดยปี 2565 กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการปลูกป่าเพื่อแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกันจำนวน 4 แสนไร่
การพัฒนาตลาคคาร์บอนเครดิตในประเทศ มูลค่าและปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 จำนวน 124.8 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13 เท่า จากปี 2564) และปริมาณการซื้อขาย 1.16 ล้านตัน ด้วยราคาเฉลี่ย 107.23 บาทต่อตัน
นโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030
การส่งเสริมการผลิตโปรตีนจากแมลงซึ่งใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ ตัวอย่างเช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีดตำบลหนองพระ ซึ่งมีสมาชิก 78 ราย โดยฟาร์มจิ้งหรีดที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี สร้างรายได้ครัวเรือนละ 20,000 บาท/เดือน ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นอาชีพเสริมให้กลายมาเป็นอาชีพหลัก
2.ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวไปแล้ว 40,319 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 63.1 ของจำนวนโรงงานทั้งหมด อีกทั้งสถาบันการเงินมีโครงการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ BCG รวมกันกว่า 1.5 แสนล้านบาทจนถึงปี 2570 โดยเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565
3.อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพการส่งเสริมให้เกษตรลดใช้สารเคมีในการเกษตร ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชด้วยระบบโรงเรือนอัจฉริยะ หรือการนำระบบเกษตรแม่นยำ ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 50% คุณภาพของผลผลิตสูงขึ้น ลดปริมาณการใช้สารเคมีเกษตรในการกำจัดแมลงลงได้ร้อยละ 50 และผลกำไรเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว
กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สวทช. และหน่วยงานในท้องถิ่น นำ “นวัตกรรมไม้โกงกางเทียม” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เลียนแบบรากต้นโกงกางธรรมชาติ ไปใช้ในพื้นที่สถานตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ เมื่อปี 2558 ซึ่งจากการตรวจวัดดินตะกอนที่สะสมหลังแปลงไม้โกงกางเทียม พบว่า ดักตะกอนได้สูงถึง 50 ซม. ปัจจุบันขยายผลการติดตั้งแปลงไม้โกงกางเทียมในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พังงา จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง
4.ปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์ ความร่วมมือรัฐและเอกชนภายใต้ชื่อ “PPP Plastic” ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการดำเนินงานเพื่อลดขยะในกลุ่มพลาสติกในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่เทศบาลระยองสามารถลดการหลุดรอดของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลได้ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ ชุมชนวังหว้า จังหวัดระยอง ไม่เพียงประสบความสำเร็จในการจัดการขยะ แต่ยังสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10,000 บาท/เดือน
โครงการเศรษฐกิจแพลตฟอร์มขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำ BCG ยุคใหม่ (BCG Next Gen) ด้วยการบ่มเพาะผู้ประกอบการ และการส่งเสริมการตลาด โดยส่วนหนึ่งเป็นการนำวัสดุที่ใช้แล้วหมุนเวียนนำกลับมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ในระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 มีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จำนวน 1,351 ราย สร้างมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 3,795 ล้านบาท
มหาวิทยาลัยทักษิณ พัฒนาเทคโนโลยีนำทางปาล์มน้ำมัน (แกนใบ) ที่เหลือทิ้งในเกษตรกรรม ในพื้นที่ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษ ทั้งยังเป็นการสร้างงานให้เกษตรกร เป็นการพัฒนาท้องถิ่น ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลาสติกได้เป็นจำนวนมาก
“รัฐบาลไทยเชื่อว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไม่ได้เหมาะสมต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นรูปแบบที่ประเทศสมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถนำไปปรับใช้ พัฒนา ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ตามบริบทของประเทศตนเองและต่อโลกได้อีกด้วย” นายอนุชากล่าว
Advertisement