ไฮไลท์การเมือง : 18 มิถุนายน 2566 รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง เปิดครบ 23 สถานีวันพรุ่งนี้ แต่สถานีลาดพร้าว เปิดบริการตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป และขยายช่วงเวลาบริการ 06.00-21.00 น. ในทุกสถานี ตั้งแต่ 20 มิ.ย. บีทีเอสคาดเริ่มเก็บค่าโดยสาร 3 ก.ค.
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่ารถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง จะเปิดให้บริการถึงสถานีลาดพร้าว ในวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป หรือครบ 23 สถานี รวมระยะทาง 30.4 กิโลเมตร หลังจากเริ่มเปิดทดสอบครั้งแรกวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ จะขยายช่วงเวลาให้บริการเป็นระหว่างเวลา 06.00-21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนเป็นต้นไป เพื่อรองรับความต้องการเดินทางในช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็นของประชาชน
ทั้งนี้วันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตลอดสายอย่างเป็นทางการ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ณ ศูนย์ซ่อมบำรุง-สถานีลาดพร้าว-สถานีศรีเอี่ยม โดยจะมีการเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่นๆ โดยมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว
ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นหนึ่งในโครงการที่มีข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานที่จำเป็นต้องติดตั้งระบบตั๋วร่วม อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อระบบรางอย่างสะดวก โดยขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้มีการติดตั้งระบบ EMV Contactless รองรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ EMV (Europay, MasterCard and VISA) นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วยบัตรแรบบิทในเครือ BTS ซึ่งจะมีการจัดทำโปรโมชันราคาพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าโดยสารสามารถออกบัตรโดยสารดังกล่าว ณ ตู้จำหน่ายบัตรโดยสาร และห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ซึ่งจะมีอัตราค่าโดยสาร 15-45 บาท
โดย รูปแบบการชำระค่าโดยสารในเบื้องต้นนั้น หากเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าการชำระค่าโดยสารด้วยการใช้บัตร EMV เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจัดเก็บค่าแรกเข้า กรณีต้องเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในจำนวนประมาณ 15 บาท โดยหากประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนราว 600 บาท คำนวณจากค่าแรกเข้าที่ถูกลดหย่อนจากการเดินทางวันทำงานไปกลับจำนวน 30 บาทต่อวัน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงให้บริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่าอาจจะมีการเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติอัตราค่าโดยสารจาก รฟม.และออกประกาศกำหนดใช้ต่อไป
Advertisement