ไฮไลท์การเมือง : 20 พฤศจิกายน 2566 พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวถึง กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือว่า กองทัพเรือได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว อดีตผู้บังคับบัญชาทุกท่านได้นำยุทธศาสตร์กองทัพเรือที่จำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ 4 ลำเดินหน้าเพื่อให้มีเรือดำน้ำให้ได้ การมีเรือดำน้ำ คงไม่ใช่เพราะเขามี แต่เราจำเป็นต้องมี เพราะมิติใต้น้ำยังบกพร่อง เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ พูดออกสื่อลำบาก แต่เข้าใจว่าทุกคนคงเข้าใจ ว่าเรามีเรือดำน้ำไว้ทำอะไร อดีตผู้บังคับบัญชาก็เดินหน้าโครงการนี้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2558 เราเริ่มลงนามกันปี 2560 ในช่วงที่มีการลงนามการกำหนดความต้องการตาม TOR ซึ่งกำหนดว่าเป็นเครื่องยนต์ โดยเขียนรวมๆ ว่า เราต้องการ Diesel Generator Set ในขณะที่จีนเสนอ MTU 396 และตบท้ายด้วยว่า GB31L (ผลิตในจีน) ซึ่งขณะนั้นจีนยังคงได้ลิขสิทธิ์ในการผลิตจากเยอรมันในการใช้งาน และการส่งออก จึงเซ็นสัญญากัน ยืนยันว่า ณ วันนั้นไม่มีฝ่ายใดบกพร่อง
“ต้องกราบขอโทษประชาชน ที่กองทัพเรือไม่ได้พูดอะไรออกมา เพราะหลังที่ผมรับหน้าที่ได้ทำหนังสือถึงจีน ขออนุญาตเปิดเผยข้อมูลในสัญญาบางส่วนได้หรือไม่เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำหนังสือจึงต้องขออนุญาตก่อน ถือเป็นมารยาทระหว่างประเทศ และจีนก็อนุญาตให้กองทัพเรือเปิดเผยได้ตามที่จำเป็น จนปี 2562 จีนได้ทำหนังสือถึงกองทัพเรือไทยแจ้งว่าเครื่องยนต์จะมีปัญหา เพราะทางเยอรมันไม่อนุญาตให้ทำได้ ซึ่งผู้แทนกองทัพเรือที่ประเทศจีน ได้ทำหนังสือตอบโต้กลับอยู่หลายฉบับ เพื่อยืนยันตามความต้องการเดิมคือเครื่องยนต์เยอรมัน โดยได้ดำเนินการทุกวิถีทาง และอดีตผู้บังคับบัญชาทุกท่านได้เจรจากับเยอรมัน รวมถึงสถานทูต เจรจา” พล.ร.อ.อะดุง กล่าว
พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า จนกระทั่งปี 2564 จีนมีหนังสือแจ้งมาว่าไม่น่าจะได้แล้ว ขอให้มาช่วยกันหาทางออก ทาง พล.ร.อ.เชิงเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีต ผบ.ทร. คนก่อน ได้ให้กรมอู่ทหารเรือ เดินทางไปตรวจสอบเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนผลิต และได้ทดสอบทุกมิติ ทดลองเครื่องด้วยการวิ่ง 200 ชั่วโมง ไม่มีการหยุด ทำทุกอย่างตามข้อตกลง ผลที่ออกมาจึงมีรายงานถึงอดีต ผบ.ทร. ว่าเครื่องยนต์น่าจะโอเค จนเป็นที่มาของการเซ็นหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม เพื่อขออนุญาตเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ถือเป็นทางออกที่กองทัพเรือทำได้ดีที่สุด
“รัฐบาลให้เงินกองทัพเรือมาซื้อเรือดำน้ำ กองทัพเรือก็ทำหน้าที่ซื้อเรือดำน้ำให้ได้ เราไม่มีหน้าที่ที่จะมาบอกว่าเปลี่ยนเป็นเรืออื่น เพราะตามระเบียบการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ให้เงินมาซื้อเรือดำน้ำต้องได้เรือดำน้ำ เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งกองทัพเรือต้องกราบขอบคุณนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ช่วยเจรจากับเยอรมันและจีน ซึ่งก็ยังเป็นคำตอบเดิม จึงมาถึงขั้นตอนที่คิดว่าต้องทำอย่างไรดี ถ้าเรือดำน้ำมาถึงทางตันเราจะเสนอเรืออะไรดี ซึ่งตนได้ขอไปว่า ขอให้เงินจำนวนนี้เป็นเงินของกองทัพเรือ ซื้ออาวุธให้กองทัพเรือ เรือที่น่าจะเหมาะสมคือเรือผิวน้ำ ขอย้ำว่าเรือผิวน้ำ อย่าเพิ่งไปพูดถึงเรือฟริเกต หรือเรือ OPV หรืออะไรก็แล้วแต่ ตนจะขอรับผิดชอบคิดให้” พล.ร.อ.อะดุง กล่าว
พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า การจะซื้อเรือลำนึงมีปัจจัยเป็นองค์ประกอบมากมาย เพราะยังต้องเจรจาอีกหลายขั้นตอน ซึ่งขณะนี้กระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือถึงกรมพระธรรมนูญ โดยสอบถามไปว่าการจะแก้ไขสัญญาใครเป็นผู้อนุมัติคณะรัฐมนตรี หรือ สภาฯ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันกองทัพเรือได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด สอบถามใน 3 ประเด็น คือ 1.การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ 2.การจะเปลี่ยนเรือดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะมาบอกว่าเปลี่ยนได้ 3.อนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์ อำนาจอยู่ที่ใคร อยากให้รอคำตอบจากอัยการสูงสุด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 วัน หลังจากส่งหนังสือไป จากนั้นกระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ จะพิจารณาว่าจะเดินหน้าอย่างไร ขอให้ใจเย็นและยืนยันว่ากองทัพเรือจะใช้งบประมาณให้คุ้มค่า ตอบโจทย์ภาระหน้าที่การรับผิดชอบอธิปไตยให้กับคนไทยอย่างดีที่สุด
เมื่อถามว่าทางจีนไม่รับการตอบสนองหากเปลี่ยนเป็นเรือผิวน้ำจะมีการดำเนินการอย่างไร พล.ร.อ.อดุง ตอบว่า มีการต่อมาครึ่งลำแล้ว การจะไปต่อรองหรือยกเลิกข้อตกลงใดๆ คงไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะเปลี่ยนเป็นเรือผิวน้ำก็เป็นเรือของบริษัทหนึ่ง ถ้าเป็นบริษัทเดียวกันก็คงพอเข้าใจกันได้ ต้องรอเวลานิดหนึ่ง
เมื่อถามต่อไปว่า ทางกองทัพเรือได้มีการคุยกับทางรัฐบาลหรือไม่ ว่าต้องการเครื่องยนต์จีน พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า ได้มีการสู้ในเรื่องนี้ ผบ.ทร.คนก่อน ได้ทำหนังสือไป คือการอธิบายว่า กองทัพเรือเดินหน้า แต่ผู้บริหารระดับบนมีเรื่องกฏหมายอะไรอีกเยอะ ซึ่งกองทัพเรือเข้าใจ และน้อมรับการตัดสินใจของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย
พล.ร.อ.อะดุง กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี่ยวหัวต่อ ที่สำคัญในประวัติศาสตร์กองทัพเรือ แต่ประวัติศาสตร์ไม่สำคัญ แต่ขอให้เป็นหัวเลี่ยวหัวต่อและการตัดสินใจที่สำคัญและถูกต้อง โดยหากไม่ได้เรือดำน้ำ ก็ขอให้ใช้เงินก้อนนี้ไปซื้ออาวุธ ซึ่งที่ดีที่สุดคือเรือ เพราะราคาใกล้เคียงกัน แต่ต้องคิดอีกเยอะ ว่าจะเอาเรือ ฟริเกต หรือ เรือ OPV ตนจะรับผิดชอบคิดให้
พล.ร.อ.อะดุง กล่าวถึงข้อสัญญาว่า ตามปกติ เมื่อมีหนังสือถามอัยการสูงสุด ใช้เวลาประมาณ 30 วัน ขณะนี้กำลังรอคำตอบอยู่ โดยสัญญากับจีนจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 แต่การสิ้นสุดสัญญานั้น ไม่ต้องกังวลอะไร ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ เราคิดค่าปรับตามปกติ ตามระเบียบ แต่เมื่อมีเหตุผลอื่นรองรับ การทำเรื่องขอลดหย่อนค่าปรับ อธิบายกันได้ตามเหตุผลและความเป็นจริง 15 วันก่อน 30 ธันวาต้องมีหนังสือเตือน กองทัพเรือ กลาโหม ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง เป็นเรื่องยาก กราบเรียนประชาชนคนไทยทุกคนว่า ถ้าง่ายก็เสร็จไปนานแล้ว แต่ต้องชัดเจนและจบในยุคของตน ขอให้ทุกคนรอคำตอบ
“ผมเข้าใจคนที่จะเซ็นอนุมัติ ท่านก็มีความเป็นห่วง เราก็จะพยายามทำทุกอย่าง ให้ผ่านไปได้ด้วยดี คนเซ็นก็ไม่มีความกังวล ขอให้ใจเย็นกันนิดหนึ่ง ตนก็ใจร้อนเหมือนกัน ขออานุภาพเสด็จเตี่ย ได้ช่วยดลบันดาล ให้เรือดำน้ำลำนี้จบด้วยดี”
Advertisement