ไฮไลท์การเมือง : 9 มีนาคม 2567 พรรคประชาธิปัตย์ – “ประชาธิปัตย์” ย้ำจุดยืนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่มีคดีทุจริต และคดี ม.112 เหตุคดีเหล่านี้ไม่เกี่ยวแรงจูงใจทางการเมือง กังวลอาจนำคดีจำนำข้าวพิจารณาด้วย วอนอย่าใช้ “ทักษิณโมเดล” นำ “ยิ่งลักษณ์” กลับบ้าน หวั่นประชาชนลุกฮือ
วันนี้ (9 มี.ค.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะมีนิรโทษกรรมโดยการนับเวลาจากช่วงเหตุการณ์ โดยเริ่มนับจากวันที่ 1 มกราคม 2548 และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อจะเก็บสถิติคดีที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในชั้นตำรวจ คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรม และองค์กรอื่น และในส่วนของมาตรา 112 นั้นยังไม่มีความชัดเจนของคณะกรรมการชุดดังกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการนับช่วงเวลาของกรรมาธิการ แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาคือความไม่ชัดเจนของกรรมาธิการในเรื่องคดีทุจริต ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา แล้วจะพิจารณาไปในแนวทางใด ตนไม่ได้ก้าวล่วงแต่มีความเป็นห่วง แต่ถ้ารวมคดีทุจริตไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยแน่นอน เพราะที่ผ่านมาองคาพยพของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยมีความพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทุจริต ทั้งที่ศาลตัดสินไปแล้ว และคดีที่ยังไม่แล้วเสร็จ อาจจะทำให้หลุดไปด้วย รวมถึงคดี ม.112 พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าไม่ควรที่จะมีการนิรโทษกรรม เพราะทั้งคดีทุจริตและคดี ม.112 ไม่ได้มีเหตุแรงจูงใจจากทางการเมืองที่จะต้องให้เกิดการกระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว
ฉะนั้น 2 เรื่องนี้เป็น 2 เรื่องที่สำคัญที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ติดตามและแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยถ้าจะมีการนิรโทษกรรมในคดีทุจริตและคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม.112 ส่วนคดีอื่นๆ คณะกรรมาธิการจะพิจารณาก็ต้องติดตามดูว่ามีองค์ความผิด ฐานความผิดใดบ้างที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจาณา ซึ่งทำถูกต้องแล้วที่ไม่เอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการนิรโทษกรรมจากกฎหมายดังกล่าว นายราเมศ ยอมรับว่ากังวล เพราะในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ผ่านมามีการให้สัมภาษณ์ของบุคคลในรัฐบาลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองจนเกิดเป็นคดีทุจริตรับจำนำข้าว ซึ่งนี่เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เขาอ้างว่าตั้งต้นมาจากปฏิวัติรัฐประหาร แล้วนำมาสู่การดำเนินคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ความเป็นจริงแล้วในส่วนของคดีจำนำข้าว เกิดขึ้นด้วยระบอบประชาธิปไตย ตรวจสอบภายใต้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วได้มีการยื่นเพื่อดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขณะนั้น และไม่ได้เป็นกระบวนการที่เกิดจากการกลั่นแกล้ง ซึ่งท้ายที่สุดคดีก็ขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็หนีคดี หนีออกนอกประเทศ
“ถามว่าคดีนี้เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ก็ต้องกลับไปอ่านมาตรา 157 การที่มีความผิดก็ต้องตั้งต้นมาจากเจตนาว่ามีความผิดแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นคำพิพากษาศาลฎีการะบุไว้ชัดเจน เชื่อว่าคณะกรรมาธิการจะมีการนำคดีทุจริตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาพิจารณาด้วย” นายราเมศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอ้างว่ายึดหลักยุติธรรม หลักกฎหมาย ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ขณะนี้แนวทางของรัฐบาลทำตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง หลักนิติธรรมที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันรัฐบาลนี้เหยียบย่ำคำว่าหลักนิติธรรมไม่มีชิ้นดี วันที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลแถลงเรื่องยึดหลักนิติธรรมไว้เป็นประเด็นแรกๆ แต่กลับทำตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง
นายราเมศ ยังกล่าวถึงกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีข่าวว่าจะเดินทางเข้าประเทศ ว่าไม่มีใครห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นคนไทย สามารถกลับเข้าสู่ประเทศได้ แต่เมื่อกลับเข้าสู่ประเทศแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ว่าจะคดีที่เป็นมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องจับตาดูว่าจะใช้กรณีทักษิณโมเดลหรือโล่ทักษิณ เป็นแนวทางในการที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหลักการหรือไม่
เบื้องต้นคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว กรมราชทัณฑ์ก็เป็นหน่วยงานหลัก ส่วนจะใช้ระเบียบตัวใด ตนคิดว่าไม่อยากให้ใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นระเบียบใหม่ กับกรณีต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งพรรคจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะไม่แน่ใจว่าจะใช้กระบวนการใด หากใช้ทักษิณโมเดลอีกตนเชื่อว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองจะมากขึ้นพี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็จะมากขึ้น
Advertisement