ไฮไลท์การเมือง : 1 พฤศจิกายน 2567 รัฐสภา – “นพดล” ยืนยันเกาะกูดเป็นของไทยมาตลอด MOU 44 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด ขอเลิกบิดเบือนจุดกระแส เพื่อหวังผลทางการเมือง
นายนพดล ปัทมะ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกระแสการบิดเบือนว่าไทยจะเสียเกาะกูดและเอ็มโอยู 44 อาจนำไปสู่การเสียเกาะกูดว่า ข้อเท็จจริงคือเกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสมานานแล้ว และไม่มีใครสามารถยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ คนไทยไปเที่ยวได้ตลอด ตนไม่เคยได้ยินว่ากัมพูชาเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะกูด จึงขอเรียกร้องให้เลิกปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูดในขณะนี้ เพราะเป็นความเท็จ รัฐบาลนี้รักประเทศชาติ ไม่มีใครจะทำให้ไทยเสียดินแดน
ส่วนที่มีการบิดเบือนว่าเอ็มโอยู 44 จะทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น เห็นว่าเอ็มโอยู 44 ที่ลงนามโดยนายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด และเป็นกรอบในการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่พัฒนาร่วม เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน สองประเทศเลือกวิธีเจรจาทางการทูต จึงเป็นที่มาของ เอ็มโอยู 44 เพื่อวางกรอบในการเจรจา บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น มีการระบุชัดเจนว่าเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 และการเจรจาจะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา อีกทั้งการเจรจานั้นจะต้องกระทำโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) เจทีซี คนอื่นไปเจรจาไม่ได้ แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น รัฐบาลก่อนนายเศรษฐา ทวีสินเป็น นายกรัฐมนตรี ก็เคยใช้การเจรจาตามกรอบของเอ็มโอยู 44 มาก่อน
นายนพดลกล่าวต่อว่า ตนไม่อยากให้นำเรื่องดินแดนมาบิดเบือนใส่ร้าย อย่างเช่นที่ตนเคยถูกกระทำในอดีต ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตนถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้งๆที่ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการใส่ร้ายว่า ตนยกเขาพระวิหารให้กัมพูชาจึงเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง ซึ่งในเรื่องนี้ตนถูกฟ้อง แต่ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายกฟ้องตนและในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าไม่จุดกระแสคลั่งชาติเพื่อหวังผลการเมืองในขณะนั้น ไทยจะรักษาได้ทั้งดินแดนและความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา แต่เสียดายที่การจุดกระแสด้วยความเท็จ ทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปศาลโลกอีกครั้งหนึ่งเพื่อยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 จนมีคำตัดสินตีความคดีปราสาทพระวิหารเดิมออกมาในปี 2556 ซึ่งในคำพิพากษาก็ระบุชัดเจนว่ากัมพูชา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกรวมพื้นที่ซับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรตามที่ตนปกป้องไว้
“คนไทยไม่ว่าเสื้อสีอะไรรักชาติเท่ากัน อย่านำประเด็นรื่องดินแดนมาทำ เป็นประเด็นการเมืองเพื่อหวังบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลเลย ถ้ารักชาติจริง ต้องเอาความจริงและข้อกฎหมายมาพูดกัน นอกจากนั้นการเจรจาตามกรอบเอ็มโอยู 44 จะต้องกระทำโดยคณะกรรมการ เจทีซี ซึ่งที่ผ่านมาประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน กองทัพ กระทรวงการต่าง เป็นต้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งรักชาติและมืออาชีพ เป็นไปได้อย่างไรที่บุคคลเหล่านี้จะทำให้ไทยเสียดินแดน” นายนพดล กล่าว
Advertisement