Home การเมือง เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ฉบับเพื่อไทย

เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ฉบับเพื่อไทย

by Editor staff

ไฮไลท์การเมือง : 8 มกราคม 2568 รัฐสภา – เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ฉบับเพื่อไทย ให้มี สสร. 200 คนจากการเลือกตั้ง ขีดเส้นห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย นำโดย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ฐานะประธาน สส.พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) ซึ่งแก้ไข มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯแล้ว เพื่อให้พิจารณาบรรจุไว้ในวาระการประชุมร่วมรัฐสภา

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ในเหตุผลตอนหนึ่งว่า เป็นการแก้ไขในบางหมวดบางเรื่องตามที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้ไม่อาจแก้ไขได้ ซึ่งขัดต่อหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ดีที่ต้องให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นพลวัตรไม่ใช่การหยุดนิ่ง เพราะต้องการให้แก้ไขได้เมื่อยามประเทศต้องการให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงภายในประเทศหรือสถานการณ์โลก อีกทั้งรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นภายใต้สถานการณ์พิเศษประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จรริง และมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย

โดยรายละเอียดของการแก้ไขมาตรา 256 นั้น มีสาระสำคัญ คือ การตัดหลักเกณฑ์ที่ต้องใช้เสียงสว. จำนวนไม่น้อย 1 ใน 3 และเสียงของสส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% ออกจากกระบวนการเห็นพ้องชั้นการลงมติวาระแรกและวาระสามจากเดิมที่กำหนดไว้

นอกจากนั้นได้ตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการรทูลเกล้าฯ ถวาย ในมาตรา 256 (8) ในกรณี เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ แต่ยังคงการให้ทำประชามติ ใน 3 กรณี คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ หมวด15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ขณะที่หมวดใหม่ที่เพิ่มขึ้น ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน พร้อมกำหนดข้อห้ามของบุคคลที่จะสมัครเป็น สสร. ไว้ คือ เป็นข้าราชการการเมือง เป็น สส. สว. รัฐมนตรี และมีลักษณะต้องห้ามตามลักษณะต้องห้ามเดียวกันกับการสมัครเป็น สส.

ส่วนระเวลาการเลือกตั้ง สสร. นั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน เมื่อเลือกตั้งเสร็จให้ กกต.รับรอบภายใน 15 วัน

ขณะที่การจัดทำรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สสร. ตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ​จำนวน 47 คน มาจากการแต่งตั้งจาก สสร. 24 คน โดยกำหนดคุณสมบัติคือ ต้องเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และอีกจำนวน 23 คนนั้น ให้สสร. แต่งตั้งจากการเสนอชื่อโดยสภาฯ 12 คน สว. 5 คน และ คณะรัฐมนตรี 6 คน พร้อมกับกำหนดระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นต้องส่งให้รัฐสภาเห็นชอบภายใน 30 วัน เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้นำไปจัดการออกเสียงประชามติ

นอกจากนั้นแล้วยังให้สิทธิ รัฐสภามีอำนาจเสนอความเห็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ สสร. ดำเนินการได้ด้วย ซึ่งกำหนดเป็นบทบังคับ ให้ สสร.แก้ไขภายใน 30 วัน พร้อมกับให้ลงมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ สรร.ที่มี จากนั้นจึงส่งให้ กกต.ทำประชามติ แต่หาก สสร. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ให้ถือว่าตกร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และให้อำนาจ สสร. ชุดเดิมยกร่างใหม่ภายใน 90 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย กำหนดเป็นข้อห้ามที่ชัดเจนว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และ หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้” พร้อมให้อำนาจรัฐสภาวินิจฉัยว่าหากมีการจัดทำเนื้อหาที่เป็นข้อห้ามดังกล่าวให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ สสร. ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าสำหรับการกำหนดให้ สสร. สิ้นสภาพไปนั้น ให้ สส. และสว. เสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก และกำหนดข้อห้าม สสร. ชุดเดิมกลับมาเป็น สสร.อีก

Advertisement

Related Articles

Leave a Comment

Are you sure want to unlock this post?
Unlock left : 0
Are you sure want to cancel subscription?
-
00:00
00:00
Update Required Flash plugin
-
00:00
00:00